ศึกสายเลือด(รัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ)

เมื่อ 2/06/2015
                                                                    
                                    ศึกสายเลือดรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ
(สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓)
              พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ที่ถือเป็นข้อยุติเรื่องแรกคือพระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อต้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จะมีข้อโต้แย้งอยู่บ้างก็เฉพาะในเรื่องวันที่และเดือนเกิดเท่านั้น และเมื่อรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นปฐม เราจึงควรต้องรับทราบถึงความวุ่นวายของศึกสายเลือดในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตั้งแต่ก่อนครองราชย์สมบัติจนสิ้นพระชนม์โดยละเอียด เพราะเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดเรื่องชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เป็นอย่างดี

            
พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(เจ้าฟ้าพร-
สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓)เป็นพระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ(เจ้าฟ้าเพชร-สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙)และทั้งสองพระองค์เป็นพระราชโอรสของ'พระเจ้าเสือ'เป็นหลานปู่ของ'พระเพทราชา' ปฐมกบัตริย์แห่งราชวงค์'บ้านพลูหลวง' โดยเมื่อครั้งพระเจ้าเสือสมเด็จพระบิดาของเจ้าฟ้าเพชร-เจ้าฟ้าพร ได้สวรรคตลงนั้น'เจ้าฟ้าเพชร'(พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ)ได้ขึ้นเสวยราชย์สมบัติจึงโปรดให้'เจ้าฟ้าพร'พระอนุชา เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า)และมีข้อตกลงว่า เมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ กรมพระราชวังบวร(เจ้าฟ้าพร)จะเสวยราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเจ้าท้ายสระ

 

             แต่เมื่อปลายรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเกิดเปลี่ยนพระทัย จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือเจ้าฟ้านเรนทร(มีเจ้าฟ้าอภัยเป็นพระราชโอรสองค์ที่๒.และ.เจ้าฟ้าปรเมศร์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่๓.)แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่ทรงเห็นชอบด้วยเนื่องจากพระมหาอุปราช(เจ้าฟ้าพร)ก็ยังคงมีพระชนม์อยู่และทรงดำรงตำแหน่งที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมควรมอบราชสมบัติตามข้อตกลงเดิม พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระไม่ยินยอม เจ้าฟ้านเรนทรจึงออกผนวช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัยโอรสองค์ที่๒.สืบราชสันตติวงศ์ต่อ แต่สมเด็จพระมหาอุปราชไม่ทรงยินยอมโดยทรงยืนยันว่าหากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระประสงค์จะให้พระราชโอรสของพระองค์สืบต่อราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาสมควรที่จะเป็น “เจ้าฟ้านเรนทร” พระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ทรงผนวชอยู่เท่านั้น '....ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ไม่ยอม ก็หาลาพระผนวชออกไม่ (*๑)'สรุปคือ“เจ้าฟ้านเรนทร”ไม่ยอมเป็นกษัตริย์และไม่ยอมลาสิกขาบท

             ขณะที่ยังไม่มีข้อยุติและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงพระประชวรหนัก เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์และขุนนางฝ่ายวังหลวงที่เกรงจะสูญเสียอำนาจได้จัดเตรียมกองทัพตั้งค่ายไว้หน้าวังเพื่อเตรียมที่จะรบกับกรมพระราชวังบวรฯ(เจ้าฟ้าพร)เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับกรมพระราชวังบวรฯเป็นอย่างมากจึงนำไปสู่การเปิดศึกกลางเมืองระหว่างวังหน้า(อา)และวังหลวง(หลาน)หรือศึกสายเลือดครั้งที่๑.ขึ้น ฝ่ายวังหลวง(หลาน)มีพระธนบุรีเป็นแม่ทัพผู้มีความสามารถรบชนะแม่ทัพฝ่ายวังหน้า(อา)มาหลายคน ทัพวังหน้าระส่ำระสายอย่างหนักโดยกรมพระราชวังบวรฯแม่ทัพฝ่ายวังหน้า(อา)ก็เตรียมที่จะหลบหนีเพราะคิดว่าสู้ทัพฝ่ายวังหลวง(หลาน)ไม่ได้ ขณะนั้นขุนชำนาญชาญณรงค์ทหารคนสนิทของ'เจ้าฟ้าพร'(วังหน้า)ได้อาสาออกรบกับพระธนบุรีแม่ทัพผู้เก่งกาจของฝ่ายวังหลวงและแจ้งแก่วังหน้าว่า..'...หากตนเองพ่ายแพ้ถึงตอนนั้นจะหนีก็ยังไม่สาย...(*๒)'ขุนชำนาญฯยอดนักรบของฝ่ายวังหน้าถือดาบสองมือขึ้นม้านำทหารออกรบกับพระธนบุรี พระธนบุรีก็หาเกรงกลัวไม่ จึงชักม้ามารบกับขุนชำนาญฯ รุกรบต่อตีกันเป็นสามารถท้ายที่สุดขุนชำนาญฯใช้ดาบสองมือฟันพระธนบุรีตายบนหลังม้า ทหารฝ่ายวังหน้าได้ใจจึงโห่ร้องต่อตีทัพวังหลวงที่กำลังเสียขวัญแตกพ่ายไปจนทุกทิศทาง'เจ้าฟ้าพร'(วังหน้า)จึงเป็นฝ่ายชนะและเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓(สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) หลังจากนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสให้นำตัวเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามโบราณราชประเพณี

            ลุศักราชได้ ๑๐๙๖  ปีฉลู เบญจศก ณ เดือน ๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงกระทำการพิธีปราบดาภิเศก ณ พระที่นั่งวิมานรัตยาในพระราชวังบวรสถานฝ่ายหน้านั้นสืบต่อไป'...จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนชำนาญชาญณรงค์เป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดีหลวงจ่าแสนยากรเป็นเจ้าพระยาอภัยมนตรี ว่าที่จักรี(สมุหนาย
)พระยาราชภักดีผู้ว่าที่ สมุหนายกเดิมนั้นว่าที่สมุหกลาโหมแล้วโปรดเกล้าให้พระพันวัสสาใหญ่เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต ให้พระพันวัสสาน้อยเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี......(*๓)ส่วนเจ้าฟ้านเรนทรพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระที่มิยอมลาสิกขามาเป็นกษัตริย์นั้นดำรงเพศบรรพชิตตลอดมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงสถาปนาให้ทรงกรมที่ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์(เจ้าพระฯ)

            สำหรับพระพันวัสสาทั้งสองพระองค์นี้เป็นพี่น้องกันคือเป็นบุตรีของเจ้าพระยาบำเรอภูธรในรัชสมัย'พระเพทราชา' มีพระมารดาเป็นเชื้อตระกูลพราหมณ์ชาวเมืองเพชรบุรี(บ้านสมอปรือ)โดยพระพันวัสสาใหญ่ทรงมีพระราชธิดา๖พระองค์ มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ'เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร'หรือ'กรมขุนเสนาพิทักษ์'ส่วนพระพันวัสสาน้อยมีพระราชธิดา๖พระองค์และพระราชโอรส๒พระองค์คือ'เจ้าฟ้าเอกทัศน์'หรือ'กรมขุนอนุรักษ์มนตรี'พระราชโอรสพระองค์ที่๔.และ'เจ้าฟ้าดอกเดื่อ'หรือ'กรมขุนพรพินิต'พระราชโอรสพระองค์ที่๘. นอกจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศยังมีพระราชโอรสที่เกิดแต่พระสนมอื่นอีกหลายพระองค์ที่สำคัญคือ กรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดีโดยกรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี จับกลุ่มรวมตัวกันเหนียวแน่น จนเรียกกันว่า'เจ้าสามกรม'

            นับแต่ปราบดาภิเศก'เจ้าพระฯ'(กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์)ทรงสนิทกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นอย่างยิ่งจนทำให้ 'เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร'(กรมขุนเสนาพิทักษ์)พระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเกิดความระแวงและวางแผนลอบทำร้าย'เจ้าพระฯ'อยู่ตลอดเวลาเพราะเกรงว่าพระราชบิดาจะมอบราชสมบัติคืนให้'เจ้าพระฯ'ทั้งที่พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มีสิทธิโดยชอบธรรมในราชสมบัติ.

             
ในปีพ.ศ. ๒๒๗๘พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขณะทำการปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทซึ่งเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม ในปีนั้นก็ทรงพระประชวร ฝ่ายเจ้าพระฯซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดยอดเกาะ ก็เสด็จเข้ามาจำพรรษา ณ วัดโคกแสงภายในพระนครและเข้าไปเยี่ยมเยือนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอันทรงพระประชวรอยู่ ณ พระราชวังหน้านั้นเนืองๆ(พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแม้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็ยังประทับอยู่ที่วังหน้ามิได้ย้ายไปวังหลวง)'....อยู่มาวันหนึ่งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร(สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษ์)ตรัสใช้ให้พระองค์เจ้าชื่น พระองค์เจ้าเกิดซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ออกไปทูลลวงเจ้าพระฯว่ามีพระราชโองการให้นิมนต์เข้าไปในพระราชวังหน้าในเพลาราตรีเจ้าพระฯสำคัญว่าจริงก็เสด็จเข้าไปในพระราชวังขึ้นไปบนหน้าพระชัยเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรแอบข้างพระทวารคอยอยู่ เอาพระแสงดาบฟันเอาเจ้าพระฯหาเข้าไม่เพราะมีวิชาการดีถูกแต่ผ้าจีวรขาดเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรกลัวพระราชอาญาวิ่งเข้าไปข้างในตำหนักพระราชมารดา...(*๔)'

             '....ฝ่ายเจ้าพระฯก็เสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวฯ ๆได้ทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสถามว่าเหตุไฉนผ้าจีวรจึงขาดเจ้าพระฯถวายพระพรว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหล่อนหยอก ครั้นเจ้าพระฯถวายพระพรลาออกมาแล้ว พระพันวัสสาใหญ่กรมหลวงอภัยนุชิต(พระราชมารดาของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร)จึงเสด็จมาอ้อนวอนว่า ถ้าพ่อมิช่วยก็เห็นจะตายเจ้าพระฯจึงตรัสว่าจะช่วยได้ก็แต่กาสาวพัสต์อันเป็นธงชัยพระอรหัตน์ กรมหลวงอภัยนุชิตได้พระสติจึงเสด็จกลับเข้าไปแล้วพาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรราชโอรสขึ้นซ่อนในพระวอทรงพระวอเดียวกันออกจากทางประตูฉนวนวัดโคกแสง ให้ไปบวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัด(เจ้าพระฯ)นั้น พระพุทธเจ้าอยู่หัว(บรมโกศ)ทรงพระพิโรธเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเป็นอันมากดำรัสให้ค้นหาตัวในพระราชวังมิได้พบได้แต่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าชื่นพระองค์เจ้าเกิด ซึ่งร่วมคิดกันนั้น ดำรัสสั่งให้เอาไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ ดับสูญทั้งสองพระองค์...(*๕)' นับเป็นศึกสายเลือดครั้งที่๒.

 

             การบวชครั้งนี้เจ้าพระฯก็ทรงช่วยอนุเคราะห์อย่างสุดกำลังโดยน่าจะเป็นพระอุปัชฌาย์ถวายการทรงผนวชให้ด้วย จึงทำให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรมีพระชนม์ชีพอยู่รอดปลอดภัยมาได้ อันเป็นผลดีอย่างยิ่งในงานวรรณกรรมปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะเป็นพื้นฐานให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงใช้เวลาในระหว่างบวชเรียนอยู่กับเจ้าพระฯ ทำการศึกษาเล่าเรียนจนทรงแตกฉานวิชาการประพันธ์ ดังปรากฏอยู่ในผลงาน กาพย์แห่เรือ กาพห์ห่อโคลง ทำนองนิราศประพาสธารทองแดงและธารอโศกที่พระพุทธบาทสระบุรีเป็นต้นเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรต้องบวชอยู่ ๕-๖พรรษา จนถึงจ.ศ. ๑๑๐๓หรือ พ.ศ. ๒๒๘๔ พระราชโกษาบ้านวัดระฆังได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขอให้แต่งตั้งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ'เป็นกรมพระราชวังฯ เมื่อปรึกษาบรรดาเสนาบดีแล้วไม่มีใครคัดค้านพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็โปรดให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร(กรมขุนเสนาพิทักษ์)เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช
 

             เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรรอดโทษประหารเมื่อครั้งกรณีเจ้าพระฯมาครั้งหนึ่ง จนได้ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชโดยประเพณีแล้ว ก็น่าจะได้สถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ชะตาชีวิตของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรก็ไม่ถึงราชบัลลังก์ไม่สามารถเป็นพระมหากษัตริย์ได้ ครั้งนี้พระองค์เปิดศึกสายเลือดครั้งที่.๓ โดยเมื่อ'...ถึงเดือน ๖ ปีกุนสัปตศก(จ.ศ. ๑๑๑๗ พ.ศ. ๒๒๙๘)กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระบันทูลให้มาเอาตัวเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวรปลัดเวร กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี(เจ้าสามกรม)มาถามว่า'...เจ้ากรมเป็นแต่หมื่นจัดกันในกรมตั้งขึ้นเป็นขุนแล้วทำสูงกว่าศักดิ์'จึงให้ลงอาชญาโบยหลังคนละ ๑๕ที...(*๖)'

              โดยศึกสายเลือดครั้งนี้กรมพระราชวังบวรฯเปิดศึกกับเจ้าสามกรม แต่ถูกเอาคืน โดยเจ้าสามกรมร่วมกันวางแผนให้กรมหมื่นสุนทรเทพ ทำเรื่องร้องเรียนว่ากรมพระราชวังบวรฯเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล พระสนมเอกในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กระทำชู้กันข้างในพระนครหลายครั้งหลายหน กรมพระราชวังบวรฯถูกพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสั่งนาบพระบาทและทรงต่อว่ากรมพระราชวังบวรฯว่า'...'อ้ายปิ่นกลาโหม คบหากับมารดาเจ้ามิตร เป็นแต่เมียข้าฯ(ทาส) เฆี่ยนถึง ๗๐๐ จนตายกับคา(ขื่อ) นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์  โทษ๗๐๐ จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ยกเสีย ๒ ส่วน จะให้เฆี่ยนส่วนหนึ่งแต่ ๒๓๐ที จะว่าประการใด'...(*๗)'กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตรัสขอรับพระราชอาชญาตามแต่พระราชบิดาจะทรงพระกรุณาโปรด แต่กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วยเห็นว่าโทษนั้นหนักนัก จึงทูลขอต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า '...ขอให้ลงพระราชอาชญา ๖๐ ที' แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตรัสสั่งว่า 'ให้เฆี่ยนยกละ ๓๐ที ไปจนกว่าจะครบ ๒๓๐ที' เมื่อเจ้าพนักงานลงมือเฆี่ยนได้ ๖ ยกรวมเป็น๑๘๐ที กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทนความเจ็บไม่ไหวก็สิ้นพระชนม์ ...(*๘)'หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ

                
'...ถึงเดือน ๕ ปีฉลูนพศก(จ.ศ.๑๑๑๙พ.ศ.๒๓๐๐)กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าพระยาอภัยราชา พระยากลาโหม พระยาพระคลัง ร่วมกันกราบทูลต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขอให้ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนพรพินิต(พระเจ้าอุทุมพรหรือขุนหลวงหาวัด) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่กรมขุนพรพินิต(ขุนหลวงหาวัด)เกรงใจพระเชษฐา(กรมขุนอนุรักษ์มนตรี-พระเจ้าเอกทัศน์)จึงกราบบังคมทูลว่า'กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(พระเจ้าเอกทัศน์)พระเชษฐา ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเหมาะสมที่จะเป็นกรมพระราชวังฯมากกว่าพระองค์'พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศดำรัสว่า'...กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(พระเจ้าเอกทัศน์)นั้น เป็นวิสัยพระทัยปราศจากความเพียรถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งก็จะเกิดวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิต(ขุนหลวงหาวัด)กอบด้วยสติปัญญาฉลาดเฉลียวควรจะดำรงเศวตฉัตรรักษาแผ่นดินได้ จึงพระราชทานฐานาศักดิ์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล...(*๙)' หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอจนต้องเสียกรุงในที่สุด คือ

                 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตเมื่อเดือน๖ แรม๕ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศกเวลา๕โมงเย็น(จ.ศ. ๑๑๒๐ พ.ศ. ๒๓๐๑)เกิดศึกสายเลือดครั้งที่๔ กล่าวคือเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตนั้น เชื้อสายของพระองค์แบ่งแยกเป็นก๊กใหญ่ๆสองก๊ก ต่างฝ่ายต่างส้องสุมกำลังไว้เป็นจำนวนมาก ขุนนางเองก็แบ่งแยกเป็นสองฝ่ายตามแต่จะสนับสนุนใคร ก๊กแรกเป็นก๊กของกรมพระราชวังบวรฯ ประกอบด้วยกรมขุนอนุรักษ์มนตรี(สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์)กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าพระยาอภัยราชา พระยากลาโหม พระยาพระคลังและขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากเพราะเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ก๊กนี้มีกองบัญชาการที่ตำหนักสวนกระต่าย ของกรมพระราชวังบวรฯ

               ก๊กที่สองเป็นก๊ก
เจ้าสามกรมประกอบด้วยกรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี ตั้งกองบัญชาการที่ตำหนักศาลาลวด ทั้งสามกรมส้องสุมผู้คนไว้เงียบๆอยู่ก่อนแล้ว เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงเครื่องราชกกุฏพันตลอดจนพระแสงปืนพระแสงดาบมาถือครองไว้ โดย'...กรมหมื่นเทพพิพิธเชิญพระแสงดาบพระแสงกระบี่ พระแสงง้าวข้างที่เอาไปถวาย ณ พระตำหนักสวนกระต่าย...(*๑๐)ข้างฝ่ายเจ้าสามกรมก็มิได้กริ่งเกรงกลับแสดงเจตนาในอำนาจอย่างเด่นชัดครั้งนั้น'...กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี เสด็จไปข้างใน เชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ไปตำหนักศาลาลวด...(*๑๑)' เบื้องต้นกรมหมื่นจิตรสุนทร ยังไม่ทราบเรื่องดีจึงอยู่ร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธและสั่งให้พระยาอภัยราชาและพระยาคลังคุมทหารปิดประตูวัง จนเมื่อเห็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จมาตรัสเรียกให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอัญเชิญหีบพระแสง ณ โรงแสงไปตำหนักสวนกระต่าย กรมหมื่นจิตรสุนทรก็ตกพระทัยและเข้าใจในเหตุการณ์ต่างๆจึงเสด็จคืนไปตำหนักศาลาลวด

                
ครั้นใกล้พลบค่ำกรมพระราชวังบวรฯจึงโปรดให้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาเข้าเฝ้า ณ ศาลาลูกขุนตำหนักสวนกระต่าย ข้างฝ่ายเจ้าสามกรมนอกจากไม่ยอมมาเข้าเฝ้าตามพระบัญชาแล้วยังให้ทหารไปยึดอาวุธของหลวงมาเป็นของฝ่ายตนเพื่อเตรียมพร้อมอีกต่างหาก'...ให้ทหารข้ามกำแพงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์และกำแพงโรงรถ เข้ามาบรรจบ ณ ตำหนักศาลาลวด ขุนพิพิธภักดีข้าหลวงกรมหมื่นจิตรสุนทร พาคนไปกระทุ้งบานประตูโรงแสงเข้าไปเอาพระแสงมายึดถือไว้เป็นอันมาก...(*๑๒)' ต่างฝ่ายต่างเตรียมรบกันขั้นแตกหัก ครั้งนั้นต้องเดือดร้อนพระผู้ใหญ่ในบ้านเมืองด้วยเป็นวันพระแรม ๑๕ ค่ำ พระเทพมุนี พระพุทธโฆษาจารย์ พระธรรมอุดม พระธรรมเจดีย์ พระเทพกวี เข้ามาเตรียมจะถวายพระธรรมเทศนาอยู่ ณ ทิมสงฆ์ กรมพระราชวังบวรฯจึงให้นิมนต์พระผู้ใหญ่เหล่านั้นเข้ามา ณ ตำหนักสวนกระต่ายแล้วอาราธนาให้ช่วยไปเจรจากับฝ่ายเจ้าสามกรม ให้สมัครสมานกัน เจรจาตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนถึง๓ยามเศษจึงบรรลุข้อตกลง เจ้าสามกรมจึงมาเฝ้าทำพระสัตย์ถวายทั้งสามองค์ ครั้นเพลาเช้าจึงเสด็จมา ณ พระที่นั่งทรงปืน สรงพระบรมศพ แล้วเชิญเข้าพระโกศ ประทับไว้ที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ตามพระราชประเพณี แต่นั้นมาต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่

             คุมเชิงกันอยู่.๒๖วัน
ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯก็ชิงลงมือก่อน โดยก่อนหน้าขณะคุมเชิงกันอยู่นั้นได้วางแผนให้กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) ทำทีเหมือนจะเข้าด้วยกับฝ่ายเจ้าสามกรมเพื่อให้ฝ่ายเจ้าสามกรมหนุนขึ้นเป็นกษัตริย์โดยมีข้อตกลงให้ฝ่ายเจ้าสามกรมรับผิดชอบกรมท่าเรียกเก็บภาษีทั้งมวล มีการหารือกันหลายครั้งหลายหน เมื่อฝ่ายเจ้าสามกรมตายใจก็นัดแนะให้มาเข้าเฝ้าตามปกติทั้งสามองค์ในเวลากลางวันแบบเปิดเผยเหมือนมาหารือราชกิจธรรมดาๆทั่วไป จะได้ไม่เป็นที่ผิดสังเกตของทหารฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯและกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่ในความเป็นจริงได้มอบให้กรมหมื่นเทพพิพิธจัดวางคนซุ่มไว้ทุกทางแล้ว '...ครั้นถึงวันแรม ๑๑ ค่ำเพลาบ่าย กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หลงกลเสด็จขึ้นไปเฝ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ณ พระตำหนักตึก ขณะนั้นคนที่วางไว้ก็จับกุมเอากรมหมื่นสุนทรเทพไปลงสังขลิก ไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม กุมเอากรมหมื่นเสพภักดีไปพันธนาไว้ ณ ตึกพระคลังสุภรัต จับเอากรมหมื่นจิตรสุนทรไปจำไว้ ณ พระคลังพิเศษ ครั้นแรม ๑๓ ค่ำ จึงให้ประหารด้วยท่อนจันทน์ ณ พระคลังพิเศษทั้งสามองค์ ...(*๑๓)' รวมทั้งทหารฝ่ายเจ้าสามกรมทั้งหมดก็ถูกประหารไปสิ้น ฝ่ายข้าราชบริพารที่เป็นสตรีหรือเด็กผู้ชายตลอดจนทรัพย์สมบัติทั้งหลายของฝ่ายเจ้าสามกรมก็ถูกฝ่ายผู้ชนะยึดถือเอาตามอำเภอใจ ศึกสายเลือดครั้งที่๔.นี้ กรุงศรีอยุธยาสูญเสียขุนนางผู้ใหญ่ไปมากมายรวมถึงเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เกือบทั้งหมดด้วย

                อาณาจักรสยามสมควรสงบสุขตั้งแต่หมด
ศึกสายเลือดครั้งที่๔.แต่อนิจาอีกไม่กี่วันต่อมากลับเกิดศึกสายเลือดครั้งที่๕ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรฯจึงตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท เมื่อเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ (จ.ศ. ๑๑๒๐ พ.ศ. ๒๓๐๑)ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เสวยราชสมบัติได้๑๐วัน กรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็เสด็จไปอยู่ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แสดงตนเหมือนเป็นกษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทนไม่ไหวจึงถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช หลังจากนั้นอีก๑๕วันก็เสด็จออกไปพระผนวชแล้วเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดประดู่ทรงธรรม

           
รมหมื่นเทพพิพิธนั้นรู้ตัวว่าเมื่อสิ้นพระเจ้าอุทุมพร ตนเองคงไม่รอดเพราะพระองค์เป็นผู้นำในการถวายคำแนะนำให้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแต่งตั้งพระเจ้าอุทุมพรเป็นกรมพระราชวังบวรฯ จึงได้เสด็จหนีไปทรงผนวช ณ วัดกระโจม ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เสวยราชย์สมบัติได้เพียง๗วันก็เริ่มหาเหตุเอากับขุนนางฝ่ายพระเจ้าอุทุมพร โดยอ้างว่า'...มีผู้นำคุยหรหัสคดีมากราบทูลว่าเจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพ็ชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายเพ็งจันทร์ คิดกบฎ จะเอาราชสมบัติถวายกรมหมื่นเทพพิพิธๆรู้ตัวก็หนีไปจากวัดกระโจม แต่ก็ถูกจับได้ ณ ป่านาเริ่ง เจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพ็ชรบุรี นายจุ้ยนั้น เฆี่ยนแล้วให้จำไว้ หมื่นทิพเสนา นายเพ็งจันทร์ หนีรอดไปได้ แล้วให้ส่งพระกรมกมื่นเทพพิพิธออกไป ณ เกาะลังกาทวีป...(*๑๔)'  สรุปว่าขุนนางผู้ใหญ่สมัยอยุธยาหมดสิ้นมานับแต่นั้น

             ที่จำเป็นต้องอธิบายเหตุการณ์ช่วงนี้โดยละเอียดนั้น เพราะต้องการให้ทุกท่านเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้น
ที่มีแต่การช่วงชิงอำนาจและการฆ่าฟันอันเป็นยุคที่มีแต่ความหวาดระแวงและมีการฆ่าฟันเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินตลอดบรรดาขุนนางมากที่สุดในสมัยอยุธยาอันเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อต้นรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งทำให้สามารถอธิบายเรื่องชาติกำเนิดได้เด่นชัดยิ่งขึ้นนั่นเอง
 
           
พระราชพงศาวดารทุกฉบับกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระประสูติการเมื่อวันที่๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๒๗๗ ต้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่หลังจากนั้นอีก๕เดือนมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาคือ '...ครั้นถึง ณ เดือน๑๐ข้างแรมจีนนายก่าย ณ กรุงเทพมหานครและุพรรคพวกประมาณสามร้อยเศษ  คบคิดกันเป็นกบฏเข้ามาในเพลาราตรี จะเข้าปล้นชิงเอาพระราชวังหลวงพระยาเพชรพิชัยและข้าราชการทั้งปวงซึ่งอยู่รักษาพระนครนั้น ชวนกันออกต่อรบฆ่าฟันจีนกบฏป่วยเจ็บล้มตายเป็นอันมาก พวกกบฏจีนจะเข้าพระราชวังมิได้ก็แตกพ่ายหนีไป... ครั้นเพลาสิบเอ็ดทุ่ม วันแรมสิบเอ็ดค่ำ ในเดือน ๑๐นั้น ก็เสด็จโดยทางชลมารคจากเมืองลพบุรีกลับมายังพระมหานครศรีอยุธยา ดำรัสสั่งให้พิจารณาสืบสาวเอาตัวจีนกบฏ จับตัวได้สองร้อยแปดสิบเศษที่เป็นต้นเหตุนั้น สี่สิบคนให้ประหารชีวิตเสีย เหลือนั้นให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วขังไว้ให้เป็นตะพุนหญ้าช้าง(*๑๕)...' เหตุ'กบฏจีนก่าย'นั้นเป็นเรื่องที่ทราบกันดีทั้งราชอาณาจักรอยธยาสมัยนั้น ชาวจีนในอยุธยาทั้งหมดที่เป็นผู้ชายที่แข็งแรงและเป็นผู้ก่อการจะถูกจับกุมคุมขังและประหารชีวิต ที่เหลือก็ต้องไปเป็นตะพุนหญ้าช้าง

             กรณีกบฎจีนก่ายที่เกิดขึ้นทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่ 'เจัาพระยาจักรี' บ้านโรงฆ้องจะกล้าหาญขนาดเอาลูกคนจีนมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเพราะโทษฐานก่อกบฎในรัชสมัยนั้นมีสถานเดียวคือประหารชีวิต

              
            ถึงตรงนี้จึงสรุปได้ในเบื้องต้นว่าโอกาสที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะมีพระบิดาเป็นชาวจีนตามหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษนั้นแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย เพราะเจ้าพระยาจักรีคงไม่กล้าก่อกบฎนำลูก'จีนกบฎ'มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเป็นแน่





                                                                      [ก่อนหน้า][หน้าต่อไป]

อ้างอิง
()
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)    ช่วงปลายแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙)
(๒)เรื่องเดียวกันอ้างแล้ว
(๓)ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ในรัชสมัยสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระบรมราชาที่๓)
(๔-๙)เรื่องเดียวกันอ้างแล้ว
(๑๐)ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ในรัชสมัยพระเจ้าอุทุมพร(ขุนหลวงหาวัด)

(๑๑-๑๓)เรื่องเดียวกันอ้างแล้ว
(๑๔)ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์(
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ )
(๑๕)ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ในรัชสมัยสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระบรมราชาที่๓)