พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับราชวงศ์จักรี

เมื่อ 30/05/2015
                                                  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)
                                                                        
เอกสารไทยที่ระบุถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ถูกกล่าวถึงและนำมาอ้างอิงมากที่สุดคือพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)แต่พงศาวดารฉบับนี้ก็ถูกแก้ไขโดยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในปีที่๑๔ที่พระองค์ปราบดาภิเศกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเป็นประธานแก้ไขพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ด้วยพระองค์เองในปี พ.ศ.๒๓๓๘ ดังนี้

'...ตัวอย่างลายมือในต้นฉะบับสมุดไทย

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม )
บาน พะแนก (๑) ศุภมัสดุ ศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสับตศก ( พ.ศ. ๒๓๓๘ ) สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัว ผ่านถวัลราชย์ ณ กรุง เทพทวาราวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระ พระราชพงศาวดาร
พระราชพงศาวดาร อนึ่งณวัน ๗๒ ค่ำ ปีจออัฐศก ( จ.ศ. ๑๑๒๘ พ.ศ. ๒๓๐๙ ) ขณะเมื่อกรุงเทพมหานครยังมิได้เสียนั้น พระเจ้าอยู่หัวอันมีภินิหารนับในเนื้อหน่อพุทธางกูรเจ้า ตรัสทราบพระญาณว่ากรุงศรีอยุธยาจะเป็น
(๑) พ.ศ. ๒๓๓๘ เป็นปีที่ ๑๔ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์

๒(๑) อันตราย แต่เหตุอธิบดีเมืองแลราษฏรมิเป็นธรรม
จึงอุตสาหะด้วยกำลังกรุณาแก่สมณพราหมณาจารย์ แลพระบวรพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญเสีย จึงชุมนุมพักพวกพลทหารไทยจีนประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ สรรพด้วยเครื่องสาตราอาวุธต่าง ๆ แลประกอบด้วยทหารผู้ใหญ่นั้น พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา ขุน อภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา แล้วยกออกไปตั้งณวัดพิชัยอันเป็นที่ มงคลมหาสถาน ด้วยเดชพระบรมโพธิสมภาร เทพดาเจ้าอภิบาลรักษาพระพุทธศาสนาส้องสาธุการ บันดาลให้วรรษาการห่าฝนตกลงมาเป็นมหาพิชัยฤกษ์ จำเดิมแต่นั้นมาจึงให้ยกพลพยุหกองทัพออกจากวัดพิชัย ฝ่ากองทัพพะม่าออกมาเป็นเพลาย่ำฆ้องยามเสาร์ ได้รบกันกับพะม่าเป็นสามารถ พะม่ามิอาจจะต่อต้านทานพระบารมีได้ ก็ถอยไป จึงดำเนินด้วยพลทหารมาโดยสวัสดิภาพ ไปตามทางบ้านข้าวเม่าพอบรรลุถึงสำบัณฑิตเพลาเที่ยงคืน 2 ยามเศษ เพลิงเกิดในกรุงเทพฯ
(๑) ฉบับหมายเลข ๒/ไฆ ว่า
'จึงอุตสาหะด้วยกำลังกรุณาแก่สมณพราหมณาจารย์ แลพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญ เดิมชื่อจีนเจ้ง ซึ่งเป็นพ่อค้าเกวียน มีความชอบในแผ่นดิน ได้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ณเมืองตาก...(*๑)'

                จะเห็นได้ว่าเมื่อเริ่มชำระพระราชพงศาวดารก็มีการเพิ่มเติม()โดยอ้างเอกสารฉบับหมายเลข ๒/ไฆ หรือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาช่วงก่อนเสียกรุง อันเป็นเอกสารสั้นๆช่วงก่อนเสียกรุงหรือถ้าจะระบุให้ชัดก็คือ เป็นเอกสารที่จงใจทำลายพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยเฉพาะแถมเป็นเอกสารสั้นๆที่แทบจะหาที่มาที่ไปไม่ได้ เอกสารนั้นระบุชาติกำเนิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้เพียงว่า เดิมนั้นชื่อ'จีนเจ้ง'มีอาชีพเป็นพ่อค้าเกวียน ทำความดีความชอบจึงได้เป็นเจ้าเมืองตากโดยไม่ระบุด้วยซ้ำว่า'จีนเจ้ง'พ่อค้าเกวียนผู้นี้ทำความชอบอะไรถึงได้เป็นเจ้าเมือง

              การชำระพระราชพงศาวดารดังกล่าว ได้เพิ่มเติมข้อความเพื่อให้สอดรับกับอาชีพพ่อค้าเกวียน จึงได้มีการอ้างถึง'คัมภีร์ธาตุวงศ์'ของมหาโสภิต ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีตอนที่เสียเมืองพิษณุโลกดังนี้...ณ วัน๒๖ ค่ำพระราชสงครามเอาหนังสือมหาโสภิตเจ้าอารามวัดใหม่เขียนใส่ใบตาลไปถวายเป็น เนื้อความพุทธทำนายมีในคัมภีร์ธาตุวงศ์ใจความว่าตระกูลเสนาบดีได้เป็นกษัตริย์๔พระองค์ๆสุดนั้นพะม่าจะยกมาย่ำยีกรุงเทพฯเมื่ือกรุงเทพฯเสียแก่พะม่าแล้วยังมีชายพ่อค้าเกวียนจะได้เป็นพระยาครองเมืองทิศใต้กรุงชายชเล ชื่อเมืองบางกอกพระยาองค์นั้นจะสร้างเมืองได้๗ปีในที่สุด๗ปีนั้นพะม่าจะยกมา เพียรพยายามกระทำศึกอยู่๓ปีในพระพุทธศักราช๒๓๒๐ปีจุลศักราช๑๑๓๘พระนครบางกอกจะเสีย แนะนำให้เสด็จขึ้นไปประทับอยู่เมืองลพบุรีอันเป็นที่ประชุมพระบรมธาตุ ข้าศึกศัตรูคิดร้ายมิได้เลย..(*๒)การเพิ่มเติมข้อความนี้ขึ้นมานั้นมีเจตนาเพื่อสนับสนุนหรือให้ความสำคัญในเรื่องพ่อค้าเกวียนที่ได้เพิ่มเติมไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น ทั้งที่ข้อความที่เพิ่มเติมทั้งหมดนี้ไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์เลย

              โดยเริ่มตั้งแต่ตระกูลเสนาบดีที่ได้เป็นพระมหากษัตริย์๔พระองค์นั้นคือราชวงศ์'ปราสาททอง'เริ่มจาก'พระเจ้าปราสาททอง'เมื่อครั้งเป็น'ออกญากลาโหม'ชิงบัลลังก์มาจาก'สมเด็จพระอาทิตย์วงศ์'(โอรสพระเจ้าทรงธรรม) แล้วปราบดาภิเศกเป็นกษัตริย์ นับเป็นต้นราชวงศ์ปราสาททอง องค์ต่อมาคือสมเด็จเจ้าฟ้าชัย ราชโอรสองค์โตของพระเจ้าปราสาททอง ก็ถูกพระเจ้าอาคือพระศรีสุธรรมราชาร่วมกับน้องชายคือเจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร(สมเด็จพระนารายณ์มหาราช)ยึดอำนาจและพระศรีสุธรรมราชาเป็นกษัตริย์องค์ที่๓โดยมีสมเด็จพระนารายณ์เป็นมหาอุปราช แต่เพราะตัณหาราคะ'พระศรีสุธรรมราชา'ครองราชย์ได้๒เดือนกับ๒๐วันเห็นพระราชกัลยาณีน้องสาวพระนารายณ์ '...ทรงพระรูปศรีวิลาศเลิศนารีก็มีพระทัยเสน่หา จึงให้หาขึ้นไปบนที่ห้องจะร่วมรส สังวาสด้วยพระราชกัลยาณี พระราชกัลยาณีมิได้ขึ้นไปกลับหนีลงมาพระตำหนักแล้วบอกเหตุกับพระสนมๆจึงให้เชิญพระราชกัลยาณีเข้าไว้ในตู้พระสมุดแล้วหามออกมาเสว่าจะเอาพระสมุดไปยัง พระราชวังบวรสถานมงคล นายประตูก็มิได้สงสัย ครั้นไปเถิงพระราชวังบวรสถานมงคลแล้วพระราชกัลยาณีก็ออกจากตู้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาธิราช(สมเด็จพระนารายณ์)แล้วทรงพระกรรแสงทูลประพฤติเหตุทั้งปวงซึ่งสมเด็จพระเจ้าอาเป็นพาลทุจริต...(*๓)'จึงถูกสมเด็จพระนารายณ์มหาราชปฏิวัติยึดอำนาจสำเร็จโทษและสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ปราบดาภิเศกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่๔ และองค์สุดท้ายของตระกูลขุนนางที่ได้เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา๔พระองค์ ในราชวงศ์ 'ปราสาททอง'

               แต่ราชวงศ์ที่มีขุนนางได้เป็นกษัตริย์๔พระองค์นี้(ราชวงศ์ปราสาททอง)มิได้เสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า แต่เสียบัลลังก์ให้ขุนนางอีกท่านหนึ่งคือ
'พระเพทราชา'ต้นราชวงศ์'บ้านพลูหลวง' ราชวงศ์นี้มีพระมหากษัตริย์ครองราชย์๖พระองค์และราชวงศ์นี้ต่างหากที่เสียกรุงให้แก่พม่า เริ่มจาก'พระเพทราชา'นายกองช้างคู่พระทัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับราชการจนได้ดิบได้ดีเป็นที่'ออกพระเพทราชา' โดยในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น พระองค์เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะไม่ค่อยได้ออกว่าราชการอำนาจทั้งหมดจะตกอยู่ที่'ออกญาวิชาเยนทร์' ขุนนางต่างชาติที่ฝักใฝ่พระเจ้าหลุยส์ที่๑๔มหาราชของฝรั่งเศสเหิมเกริมขนาดจะให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสเตียน

               ประกอบกับ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่มีพระราชโอรสกับสมเด็จพระมเหสีแถมมิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นรัชทายาท เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงพระประชารหนัก จึงเกิดชิงไหวชิงพริบกันระหว่าง
'ออกพระเพทราชา'หัวหน้าขุนนางไทยที่มี'หลวงสรศักดิ์'(พระเจ้าเสือ)เป็นกำลังสำคัญฝ่ายหนึ่งกับ'ออกญาวิชาเยนทร์'ขุนนางต่างชาติอีกฝ่ายหนึ่ง ปรากฏว่าฝ่ายขุนนางไทยชนะ'ออกพระเพทราชา'จึงยึดอำนาจปราบดาภิเศกเป็นกษัตริย์ เริ่มต้นราชวงศ์'บ้านพลูหลวง'ซึ่งมีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้นรวม๖พระองค์คือพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าบรมโกศ พระเจ้าอุทุมพร(ขุนหลวงหาวัด)และพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นตระกูลขุนนางที่ได้กษัตริย์๖พระองค์ จึงเสียกรุงศรีอยธยาให้แก่พม่า มิใช่ตระกูลขุนนางที่ได้เป็นกษัตริย์๔พระองค์ตามที่คำภีร์กล่าวอ้าง สรุปได้ว่าเหตุการใน'คัมภีร์ธาตุวงศ์'ไม่เป็นความจริงแม้แต่เรื่องเดียวทั้งที่เป็นเอกสารที่แก้ไขในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเหตุการณ์ต่างๆที่อ้างใน'คัมภีร์ธาตุวงศ์'นั้นเกิดขึ้นมาก่อนนานแล้ว คณะผู้แก้ไขกลับไม่ให้ความสำคัญหรือตรวจสอบว่าไม่ถูกต้อง แต่กลับไปให้ความสำคัญคำว่า'พ่อค้าเกวียน'เพียงประโยคเดียว

               ข้อสรุป
ของแก้ไขพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ในปีพ.ศ.๒๓๓๘ ที่มีสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นประธานการแก้ไขนั้น มีเจตนาชี้ให้เห็นเป็นสำคัญว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นเดิมชื่อ'จีนเจ้ง'อาชีพเดิมก่อนรับราชการคือ'พ่อค้าเกวียน' พอมีความชอบในแผ่นดิน(ไม่รู้ว่าความชอบอะไร)ก็ได้เป็น'เจ้าเมืองตาก'ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตำแหน่งอื่นแต่อย่างใด แต่ก็ยังไม่มีข้อความใดที่กล่าวถึงพระราชบิดาที่ชื่อ'ไหฮอง'ที่เป็นนายอากรบ่อนเบี้ยและไม่มีการระบุถึงพระราชมารดาว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นชาวไทยหรือชาวจีน ถึงตรงนี้คงสรุปได้อย่างเป็นทางการว่าเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่๑แห่งราชวงศ์จักรีนั้นพระราชประวัติอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคือเดิมชื่อ'จีนเจ้ง'อาชีพเดิมก่อนรับราชการคือ'พ่อค้าเกวียน' รับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง'เจ้าเมืองตาก'

              หลังจากนั้นเรื่องราวทางเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เงียบหายไป แต่จะไปปรากฏในเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชโอรสที่เกี่ยวเนื่องทั้งสองราชวงศ์คือ'เจ้าฟ้าเหม็น'(กรมขุนกษัตรานุชิต) พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่พระราชธิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเป็นพี่สาวร่วมพระราชบิดา-มารดาเดียวกับสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่๒.

                  เหตุเกิดเมื่อรัชกาลที่๒.ขึ้นครองราชย์สมบัติได้ไม่นาน ก็มี'อีกา'คาบเอกสารมาทิ้งที่พระราชวัง อ่านดูได้ความว่า'เจ้าฟ้าเหม็น'และลูกๆของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะก่อการ'กบฏ'จึงโปรดให้ให้รัชกาลที่๓.สมัยเมื่อเป็น'กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์'และคณะสอบสวนแล้วเห็นว่ามีความผิดจึงให้ประหาร'เจ้าฟ้าเหม็น'และเชื้อสายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีก๒พระองค์คือพระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณราชธิดาองค์ที่๒ในเจ้าจอมมารดาอำพัน ธิดาคนเดียวของอุปราชจันทร์เมืองนครศรีธรรมราช พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณเป็นพระราชชายาสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์พระอนุชาธิราชแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่.๒ทรงเสกสมรสกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์แต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์(ต้นราชสกุล อิศรเสนา ณ อยุธยา)และพี่ชายแท้ๆคือพระองค์เจ้าชายอรนิกาบรรพบุรุษแห่งสกุลรัตนภาณุ ทั้งหมดถูกสำเร็จโทษวันพุธ เดือน๑๐ขึ้น ๕ค่ำพ.ศ.๒๓๕๒ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดสำนวน'อีกาคาบข่าว'และรัชกาลที่.๒ โปรดให้เลี้ยงข้าว'อีกา'ในพระบรมมหาราชวังจนตลอดรัชกาล

               
หลังจากรัชกาลที่๑.ชำระพงศาวดารเรื่องชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกล่าวถึงอีกครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่.๔ ซึ่งเป็นยุคล่าอาณานิคม และด้วยความจำเป็นทางการเมืองสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่.๔ได้อธิบายให้บรรดานักล่าอาณานิคมได้ทราบถึงความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้นราชวงศ์จักรี ว่าเป็นการ'ปราบยุคเข็ญ' มิได้เป็นการ'ชิงราชบัลลังก์'โดยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์..พงศาวดารสยามฉบับย่อ(Brief History of Siam)เพื่อพระราชทานให้เซอร์จอห์นเบาว์ริง โดยพระราชนิพนธ์ฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารThe Chinese Repossitory ฉบับเดือนกรกฎาคมของปีพ.ศ.๒๓๙๔ต่อมาถูกตีพิมพ์ซ้ำอีกในหนังสือ 'The Kingdom and People of Siam'ของเซอร์จอห์น เบาว์ริงโดยทรงอธิบายถึงความไม่ชอบธรรมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพราะมีเชื้อสายจีนไว้ดังนี้...พวกข้าราชการหลายคนจากครั้งกรุงศรีอยุธยาไม่เต็มใจที่จะเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระเจ้าตากทั้งหมดมีใจโอนเอียงไปข้างแม่ทัพผู้พี่และยิ่งกว่านั้นพวกเขาซึ่งมีใจอคติต่อพระเจ้าตากในเรื่องที่ว่าทรงมีเชื้อสายจีนได้พากันมองท่านแม่ทัพผู้พี่ควรมีฐานันดรสูงกว่าพระองค์เสียอีกพวกผู้ดีเก่าเหล่านี้ได้ชุมนุมกันเป็นข้ารับใช้ในเรือนส่วนตัวของท่านแม่ทัพโดยมิให้ผิดสังเกต...(*๔)'

                         หลังจากนั้นทรงระบุไว้อย่างชัดเจนว่าในสมัยกรุงธนบุรีนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองอยู่สามพระองค์“...So, upon that time, there were three king presented in Siam, viz., Supreme King Phya Tark;King of war,our grandfather,and the latter said King of Northern Siam ” (King of warคือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหรือเจ้าพระยาจักรี , King of Northern Siamคือเจ้าพระยาสุรสีห์)...(*๕)และสุดท้ายทรงมีพระราชาธิบายเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของราชวงศ์จักรีของพระองค์ ไว้ดังนี้ “... พระองค์เกิดพระสติฟั่นเฟือนหรือทรงพระพิโรธตรัสว่าทรงเป็นพระพุทธเจ้าฯลฯ แล้วสั่งประหารผู้บริสุทธิ์ไปมากกว่า๑๐,๐๐๐ คน และบีบบังคับขู่เข็ญเอาเงินเข้าพระคลังหลวง โดยที่มิได้เป็นค่าภาษีหรือมีเหตุผลที่ชอบธรรมใดๆ ดังนั้นจึงเกิดการกบฏลุกลามขนานใหญ่ขึ้น จับเอาพระเจ้าแผ่นดินที่เสียพระจริตเอาไว้แล้วส่งคณะไปยังกัมพูชาเพื่ออัญเชิญพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองคือเจ้าแห่งสงครามกับกษัตริย์ตอนเหนือ กลับมาครองราชย์บัลลังก์ประเทศสยามทั้งหมดกับทั้งเมืองขึ้นทั้งปวง...(*๖)”

              พงศาวดารสยามฉบับย่อนี้ยังได้อธิบายถึงความชอบธรรมของราชวงศ์จักรีที่สืบสายตระกูลมาจากตระกูลขุนนางเก่าแก่ที่ทำคุณงามความดีไว้มากมายดังนี้.'...ต้นตระกูลผู้เป็นบิดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกและเป็นปู่ของพระราชบิดาในพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน(ตัวข้าพเจ้า-ร.๔)กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน(พระ เชษฐาผู้ทรงล่วงไปของข้าพเจ้า-ร.๓)แห่งสยาม เป็นอภิชาตบุตรของตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากเสนาบดีต่างประเทศ(เจ้าพระยาโกษาปาน-สมัยพระนารายณ์)ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านได้ย้ายหลักแหล่งจากอยุธยามาเพื่อความสุขของชีวิตมาตั้งบ้านเรือน ที่“สเกตรัง”เป็นท่าเรือบนลำน้ำสายเล็กอันเป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่ตรงรอยต่อ ของราชอาณาจักรสยามตอนเหนือกับตอนใต้ ท่านได้ออกจาก ”สเกตรัง”ไปยังอยุธยาที่ซึ่งได้รับคำแนะนำให้เข้ารับราชการและได้สมรสกับธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีน ภายในกำแพงเมืองตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา...(*๗)ที่น่าแปลกคือพงศาวดารสยามฉบับย่อนี้กลับระบุชัดว่าพระชนนีของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น'...เป็นธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในย่านการค้าของกรุงศรีอยุธยา...(*๘)' นั่นย่อมแสดงว่าขนบธรรมเนียมการสืบสายสกุลในสมัยนั้นเพียงถือเอาสายโลหิตทางบิดาเป็นหลักไม่นับรวมสายโลหิตฝ่ายมารดาเข้าไปด้วยเพราะการมีพระราชมารดาเป็นชาวจีนก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือทำให้ขาดความชอบธรรมในการปราบดาภิเศกของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแต่อย่างใด

                  ถึงตรงนี้พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังคงมีเพียง เดิมชื่อ'จีนเจ้ง'อาชีพเดิมเป็นพ่อค้าเกวียนรับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง'เจ้าเมืองตาก'ไม่มีเอกสารใดที่ระบุถึงพระบิดา'ไหฮอง'และพระมารดา'นกเอี้ยง'ปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด

                




                                                                                  [ก่อนหน้า][หน้าต่อไป]

อ้างอิง
(๑) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)
(๒-๓)เรื่องเดียวกัน อ้างแล้ว
(๔)
พงศาวดารสยามฉบับย่อ(Brief History of Siam)
(๕-๘)เรื่องเดียวกัน อ้างแล้ว