
กำเนิด'ชุมนุมเจ้าตาก'
'สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช'ท่านเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ประกอบวีรกรรมในการกู้ชาติบ้านเมืองเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๒ พ.ศ.๒๓๑๐ หากวันนั้นแผ่นดินนี้ไม่มีพระองค์ก็คง'ไม่มีประเทศไทย''ไม่มี'กรุงเทพฯ' 'ไม่มีธนบุรี'และไม่มีแม้แต่คำว่า'คนไทย'หรือ'ชนชาติไทย'ปรากฏให้เห็น ความภาคภูมิใจในเรื่องราวอันยาวนานของชนชาติไทยคงสูญสิ้นไปนับแต่นั้น และคงจะไปปรากฏในพงศาวดารของ“พม่า”ซึ่งคงบันทึกไว้ว่า'ชาวไทยเป็นชนกลุ่มน้อย'อาศัยอยู่หนาแน่นในภาคตะวันออกของประเทศเช่นเดียวกับ”กระเหรี่ยง”และ“มอญ”
ซึ่งฐานะอย่างนี้คงเกิดขึ้นและมีมานับตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๓๑๐นั้นจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้ และภารกิจที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีจุดเริ่มต้นของ'ชุมนุมเจ้าตาก'ซึ่ง“พงศาวดาร”ของชาติไทยไม่เคยให้ความสำคัญว่าเริ่มต้นที่ไหน โดยมักกำหนดว่าพระองค์เริ่มต้นที่“จันทบุรี”ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเมื่อครั้งที่พระองค์ถึงระยองในฐานะ“พระยาตาก”นั้น พระองค์มีทหารไม่มากพอที่จะรับศึกพร้อมกันถึงสามด้าน คือ'ขุนรามหมื่นซ่อง''นายทองอยู่ นกเล็ก'และกองทัพ'เมืองจันทบุรี'
เมื่อครั้งพระองค์รวบรวมผู้คนอยู่ที่แขวงเมืองระยองนั้น ก่อนที่ข่าวเสียกรุงศรีอยุธยาจะมาถึง ทุกเวลานาทีที่เมืองระยอง พระองค์ต้องอยู่ภายใต้วงล้อมของสามกองทัพ พระองค์ต้องใช้พระปรีชาสามารถทุกวิถีทางทั้งการปรองดองกับเจ้าถิ่น และส้องสุมผู้คนเพื่อประกอบภาระกิจที่สำคัญ นั่นคือการรวบรวมผู้คนชนชาติไทยไปช่วยกัน“กอบกู้กรุงศรีอยุธยา”ให้หลุดพ้นจากเงื้อมมือพม่า-รามัญ
พระองค์ต้องทำอย่างไรจึงสามารถประกาศตนเป็นเจ้าและทำให้'ชุมนุมเจ้าตาก'ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมา ที่ค่ายท่าประดู่ แขวงเมืองระยอง แล้วจึงยึดจันทบุรีเป็นฐานที่มั่น จึงขอเริ่มอธิบายแต่ครั้งศึกเสียกรุงดังต่อไปนี้
ตอนที่๑ สงครามเสียกรุงศรีอยุธยา
ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา๗ปีไทยมีศึก'อลองพญา'ครั้งนั้น”พระเจ้าอลองพญา”เป็นแม่ทัพและราชบุตร“มังระ”เป็นทัพหน้าโดยการรบครั้งนั้นจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างเจ็บช้ำที่สุดของพม่าและพระเจ้าอลองพญาสวรรคตขณะเดินทางกลับ โดยพงศาวดารไทยระบุไว้ว่าพระเจ้าอลองพญาถูกปืนใหญ่ระเบิดใส่บาดเจ็บต้องเลิกสงครามกลางคันพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ระหว่างทางแต่พงศาวดารพม่ากลับระบุว่า“ในขณะที่พระเจ้าอลองพญาล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้นฝ่ายไทยได้ดำเนินกุศโลบายโดยส่งทูตไปแสร้งทำเป็นว่าจะยอมแพ้ขอเป็นเมืองขึ้นและจะส่งบรรณาการ แต่หลังจากนั้นก็ถ่วงเวลาเรื่อยไปเพื่อให้กองทัพพม่าต้องเผชิญกับฤดูน้ำหลากฝ่ายพระเจ้าอลองพญาทรงเห็นว่าฤดูน้ำหลากกระชั้นเข้ามาประกอบกับทรงพระประชวร จึงจำเป็นต้องถอยทัพกลับพม่า”และสุดท้ายพระเจ้าอลองพญาสวรรคตระหว่างทาง
ในศึก'อลองพญา'นั้นไทยคิดอย่างไรไม่สำคัญแต่พม่าโดยเฉพาะ“พระเจ้ามังระ”มีความฝังใจว่าเพราะฝ่ายไทยใช้อุบายการยอมแพ้แล้วบิดพลิ้วทำให้พระเจ้าอลองพญาสวรรคต จนระบุในสาเหตุของการรุกรานอยุธยาไว้ชัดเจนว่า“เพราะอยุธยาบิดพลิ้วที่จะส่งบรรณาการให้กับพระราชบิดาตามที่ได้สัญญาไว้”จึงได้มอบหมายให้สีหปะเต๊ะ(เนเมียวสีหบดี)เป็นแม่ทัพยกออกไปสมทบกับทัพเมืองเชียงใหม่มุ่งลงมาตีอยุธยาส่วนตัวพระเจ้ามังระคงอยู่ที่พม่าเพื่อคอยบัญชาการตั้งรับกองทัพจีน โดยได้กำชับมาอย่างเด็ดขาดว่า“ให้ทำลายอยุธยาให้สิ้นแล้วกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินที่ยึดได้ทั้งหมดกลับไปยังพม่า”
แต่เมื่อเนเมียวสีหบดียกทัพออกไปแล้วพระเจ้ามังระ เกรงว่ากองทัพของเนเมียวสีหบดีเพียงกองทัพเดียวคงไม่สามารถเอาชนะกรุงศรีอยุธยาอย่างเด็ดขาดได้ จึงได้ส่งมหานรทายกมาตีอยุธยาอีกด้านหนึ่งซึ่งพงศาวดารพม่าได้ระบุไว้ว่า'...ทรงมีพระราชดำริว่าอาณาจักรอยุธยานั้นยังไม่เคยถึงกาลต้องถูกทำลายโดยเด็ดขาดมาก่อนฉะนั้นหากจะอาศัยทัพของเนเมียวสีบดีที่ยกไปทางเชียงใหม่เพียงทัพเดียวย่อมยากจะตีอยุธยาให้สำเร็จได้โดยง่ายจึงจำเป็นต้องจัดกองทัพให้มหานรทายกไปช่วยกระทำการอีกด้านหนึ่ง'ทัพของมหานรทาประกอบด้วยช้าง๒๐๐ม้า๒,๐๐๐ไพร่พล๒๐,๐๐๐ โดยให้ยกไปสมทบกับที่เกณฑ์จากเมืองหงสาวดี เมาะตะมะตะนาวศรี มะริดและทวายรวมกำลังทั้งสิ้นแล้วกว่า๓๐,๐๐๐คน ทัพของมหานรทาทั้งหมดยกออกจากทวายเมื่อวันที่๒๕พ.ย.๒๓๐๘มุ่งเข้าตีเมืองเพชรบุรีเป็นแห่งแรก
เส้นทางที่พม่าใช้เพื่อรบกับอยุธาด้านตะวันตกของไทยในอดีตนั้นพม่าจะเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์กาญจนบุรีเป็นหลัก แต่พระเจ้าอลองพญาเริ่มใช้เส้นทางด้าน'ทวาย'เพื่อเข้าตีอยุธยา เส้นทางนี้เมืองเพชรบุรีจะเป็นเมืองแรกที่ต้องรับศึก เมื่อพระยาเพชรบุรีทราบว่าพม่ายกมาเป็นจำนวนมากจึงตั้งรับอยู่แต่ในเมือง เมื่อทัพของมหานรทายกมาถึงก็ได้แบ่งกำลังเข้าตีเมืองออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งใช้บันไดป่ายปีนกำแพงอีกส่วนหนึ่งเข้าขุดเจาะรากฐานกำแพง ทัพพม่าสามารถตีเมืองเพชรบุรีได้ในระยะเวลาอันสั้น(พระยาเพชรบุรีฝ่าออกไปอยุธยาได้)เมื่อเข้าเมืองได้แล้วก็ปล้นเมือง ทหารคนใดจับผู้คนหรือยึดข้าวของเงินทองได้ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้นั้น ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยึดได้ทั้งหมดต้องมอบให้นายทัพเจ้าสังกัด หลังจากนั้นพม่าก็ให้ทหารเมืองเพชรบุรีถือน้ำสาบานและตั้งกองกำลังประจำการเมื่อเรียบร้อยก็เคลื่อนทัพตรงขึ้นไปยังเมืองราชบุรีและสุพรรณบุรีตามลำดับต่อไป
เมื่อเจ้าเมืองราชบุรีและสุพรรณบุรีทราบว่าเมืองเพชรบุรีแตกแล้วก็ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี พม่าได้เมืองราชบุรีก่อนตามด้วยสุพรรณบุรี ทุกเมืองที่อ่อนน้อมมหานรทาก็ให้เจ้าเมืองกรมการเมืองถือน้ำสาบานตามธรรมเนียม แล้วมหานรทาก็มีคำสั่งออกไปทั่วทุกกองทัพ ห้ามไม่ให้ทหารพม่าทำความเดือดร้อนแก่ทหารและราษฎรที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ยอมอ่อนน้อมต่อพม่าอย่างเด็ดขาดเมื่อได้เมืองราชบุรีและสุพรรณบุรีแล้วพม่าวกกลับไปทางทิศตะวันตกเพื่อเข้าตีกาญจนบุรี(พระเจ้าอลองพญานั้นเมื่อตีได้เพชรบุรีราชบุรีสุพรรณบุรีแล้วจะตีตัดเข้ากรุงศรีอยุธยาทางตำบลตาลาน ไม่ได้วกมาตีกาญจนบุรี)
เมืองกาญจนบุรีนั้นพงศาวดารของพม่าระบุว่า“เมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองที่ถึงพร้อมทั้งในด้านกำลังอาวุธและเสบียงอาหารที่กักตุนไว้ นับว่าเป็นเมืองที่แข็งแรงเมืองหนึ่งเจ้าเมืองจึงเตรียมตั้งรับทัพพม่าอยู่ในเมืองไม่ยอมอ่อนน้อม แต่ถึงแม้ว่าการป้องกันจะเป็นไปอย่างแข็งแรงเมืองกาญจนบุรีก็ไม่สามารถต้านกำลังทัพพม่าที่มีจำนวนมากกว่าได้จึงต้องเสียเมืองไปในที่สุด'และเมื่อเข้าเมืองได้แล้วพม่าก็ปล้นฆ่าข่มขืนกันตามสบายเช่นเดียวกับเพชรบุรี เมื่อได้เมืองกาญจนบุรีแล้วพม่ายังได้เมืองเล็กๆบริเวณนั้นอีก๓เมืองตามลำดับคือคือเมืองไทรโยค เมืองสวานโปง(ชื่อที่พม่าเรียกยังไม่ทราบว่าเป็นเมืองใด)และเมืองซาเลง(แสลง-เสลียง)ทั้ง๓เมืองนี้มีเพียงสวานโปงเท่านั้นที่ไม่ยอมอ่อนน้อม แล้วเมืองนี้ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับทุกๆเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อมคือ'ปล้น ข่มขืน ยึดทรัพย์จับเชลยไปเป็นทาสกันตามสบาย เพียงต้องส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แม่ทัพเท่านั้นและสุดท้ายก็เผาเมือง'
ภายหลังจากที่ได้หัวเมืองด้านตะวันตกทั้งหมดแล้วมหานรทาก็ให้ทหารทั้ง๗เมืองนั้นเป็นทัพหน้า๗ทัพ มีเมงจี กามะนีสานดะ คุมไปตีอยุธยา ตัวมหานรทาคุมทัพหลวงตามไปอีก๕๐ทัพโดยยึดลูกเมียของทหารเหล่านั้นไว้หลังสุดเพื่อป้องกันมิให้ทหารไทยทรยศ ทัพทั้ง๕๗ ทัพมุ่งตรงสู่กรุงศรีอยุธยา ทางกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบว่าพม่ายกทัพใหญ่มาก็ส่งทัพออกไปตั้งรับที่เมือง'สีกุก' พงศาวดารพม่าระบุว่า ทัพอยุธยาที่ส่งออกไปประกอบด้วยช้างศึก๕๐๐รถบรรทุกปืนใหญ่๕๐๐และพลเดินเท้า๖๐,๐๐๐มีพระยาพลเทพคุมกำลังทั้งหมดไปตั้งทัพรออยู่ที่เมือง“สีกุก”ด้านตะวันตกของตัวพระ นคร เมื่อมหานรทาทราบจากม้าเร็วว่ากองทัพไทยมาตั้งคอยอยู่แล้วก็คุมกำลังบุกเข้ารบถึงขั้นตะลุมบอน ทัพไทยสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไป เมื่อตีเมือง“สีกุก”ได้แล้วก็เคลื่อนทัพหน้าไปตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน“กานนี” ชานพระนครเพื่อรอคอยทัพของเนเมียวสีหบดีซึ่งยังยกลงมาไม่ถึง
ในส่วนของมหานรทานั้นสรุปได้ว่ายึดได้หัวเมืองด้านเส้นทางทวายนั้น๗หัวเมือง มีรบชนะ ๓ หัวเมืองและยอมอ่อนน้อม๔หัวเมือง
ส่วน“เนเมียวสีหบดี”ที่ยกมาทางเชียงใหม่นั้นก็ใช้วิธีเดียวกันกับมหานรทา โดยเริ่มตั้งทัพที่เชียงใหม่เพื่อตีหัวเมืองเหนือตอนบนทั้งหมด เมื่อได้หัวเมืองเหนือตอนบนทั้งหมดแล้ว ขณะเตรียมทัพอยู่นั้นก็ได้รับพระราชสาสน์จากพระเจ้ามังระให้รีบเร่งดำเนินการ จึงเริ่มเปิดฉากโจมตีหัวเมืองเหนือตอนล่างทั้งสิ้น ๑๓ หัวเมืองดังนี้คือเมืองบ้านตาก เมืองระแหง เมืองกำแพงเพชร เมืองสวรรค์โลก เมืองสุโขทัย เมืองรัตสมา(รัตสมาไม่ทราบเมือง-ผู้เขียน) เมืองพิษณุโลก เมืองลับแล เมืองพิไชย เมืองธานีเมืองพิจิตร เมืองนครสวรรค์ เมืองอ่างทอง ทั้งสิ้น๑๓หัวเมือง แต่มีเพียง ๓ หัวเมืองเท่านั้นที่ต่อสู้คือ๑ เมืองตาก ครั้นได้ทราบข่าวว่ากองทัพของเนเมียวสีหบดียกมาก็เตรียมจัดการกำแพงเมืองแลค่ายคูประตูหอรบ ลงขวากลงหนามแลเอาปืนใหญ่ขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินโดยแน่นหนาดุจดังกำแพงเหล็ก
'...ฝ่ายเนเมียวสีหบดีเห็นว่าผู้รักษาเมืองบ้านตากรักษาเมืองตั้งมั่นอยู่ดังนั้นก็ให้ทหารเข้าตีเมืองบ้านตากพวกทหารพม่าทั้งหลายบ้างขุดกำแพง บ้างเอาบันไดพาดปีนกำแพงตั้งใจพร้อมกันทำสงครามไม่นานก็เข้าเมืองได้เมื่อเข้าเมืองได้พวกพลทหารก็เก็บริบเอาเงินทองและจับผู้รักษาเมืองพลทหารเมือง ราษฎรชายหญิงแลเก็บเอาสาตราอาวุธทั้งปวงแต่เครื่องสาตราอาวุธทั้งปวงนั้นส่งไปให้กับสีหะปะเต๊ะแม่ทัพที่ค่าย...' อีก ๒ เมืองที่ต่อสู้คือเมืองสวรรคโลกและเมืองพิษณุโลก โดยที่การปฏิบัติต่อหัวเมืองที่ต่อสู้และหัวเมืองที่ยอมอ่อนน้อมของเนเมียวสีหบดีนั้นเป็นเช่นเดียวกับมหานรทากล่าวคือ เมืองที่ยอมอ่อนน้อมนั้นจะมีคำสั่งกำชับอย่างเด่นชัดว่าห้ามทหารพม่าแตะต้องหรือทำอันตรายอย่างเด็ดขาดแต่เมืองที่ต่อสู้เมื่อเข้าเมืองได้คือ ปล้น ข่มขืน ยึดทรัพย์จับเป็นเชลยและเข่นฆ่าเอาตามสบายเพียงแต่ต้องนำอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งมอบแก่แม่ทัพเท่านั้น เมื่อตีได้หมดแล้วเนเมียวสีหบดีจึงได้คัดเลือกเอาแต่เฉพาะกำลังคนและอาวุธที่มีคุณภาพจากหัวเมืองเหล่านั้นจัดขึ้นเป็นกองทัพ๑๓ กองทัพและให้“ดูเองดานนะจอเทง”คุมลงมาเป็นทัพหน้าตัวเนเมียวสีหบดีคุมทัพบกและทัพเรือจำนวน๕๘กองทัพเป็นทัพหลวงตามลงมา รวมเป็นทัพทางเหนือที่จะเข้าตีอยุธยาทั้งสิ้น๗๑ทัพ สรุปว่า เนเมียวสีหบดียึดได้หัวเมืองเหนือตอนล่าง ๑๓ หัวเมือง แต่มีรบกับพม่าเพียง ๓ หัวเมือง นอกนั้นล้วนยอมแพ้และเข้าร่วมกับพม่ามารบกับอยุธยา
ในการรบกับหัวเมืองทางเหนือตอนล่างนี้ กองทัพของเนเมียวสีหบดียึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก จึงส่งปืนใหญ่และปืนเล็กอย่างดีจำนวน๑๕๐กระบอกขึ้นไปเก็บรักษาไว้ที่เชียงใหม่แล้วจึงยกมาตีอยุธยาและเมื่อทางอยุธยาทราบว่ามีทัพพม่ายกเข้ามาทางเส้นเชียงใหม่ ก็ส่งกองทัพออกไปรับศึกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านปากน้ำประสบแยกเป็นทัพบกประกอบด้วยรถบรรทุกปืนใหญ่๒,๐๐๐ช้างศึก๓๐๐ไพร่พล๓๐,๐๐๐มีพระยาธิเบศร์ปริยัติเป็นแม่ทัพและทัพเรือประกอบด้วยเรือรบ๓๐๐เรือสำปั้น๓๐๐ลำบรรทุกปืนใหญ่รวม๒,๐๐๐กระบอกไพร่พล๓๐,๐๐๐มีพระยากลาโหมเป็นแม่ทัพ(พม่าว่าพระยาคลัง-ผู้เขียน)เมื่อทัพของเนเมียวสีหบดียกมาถึง ก็เข้าตีกองทัพไทยที่ยกมารอรับโดยทันทีการรบเป็นถึงขั้นตะลุมบอนทัพไทยสู้ไม่ได้ก็ถอยลงมาพม่าริบได้ช้างม้าและเชลยศึกได้เป็นอันมากและพระยากลาโหมแม่ทัพเรือฝ่ายไทยก็ถูกจับเป็นเชลยด้วย หลังจากนั้นเนเมียวสีหบดีก็ยกทัพลงมาตั้งมั่นที่ปากน้ำประสบเมื่อเดือน ๓ ขึ้น๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๗(เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๐๙)
ตอนต่อไปใต้วงล้อมพม่า
[ก่อนหน้า][ถัดไป]
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
..
.
.
.
.
.
.
.