ตีฝ่าวงล้อมพม่า

เมื่อ 15/02/2013
เหตุเพราะ มหานรทาเสียชีวิต

                 ..หลังจากคณะทูตไทยที่นำสาสน์ขอเป็นเมืองขึ้นต่อพม่ากลับมาแจ้งข่าวแล้วมี เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในกองทัพพม่าที่ฝ่ายไทยไม่รู้ นั่นคือการเสียชีวิตของ 'มหานรทา”พงศาวดารพม่าระบุว่า '..เมื่อคณะทูตไทยกลับไปแล้วมหานรทาก็กลับมาที่ค่าย แล้วเกิดล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นเช่นนั้นอยู่ ๕ วันก็เสียชีวิต...'กองทัพทางทวายของมหานรทานั้นมี'เนเมียวกุนเยะ”กับ“คุเชงยานองจอ”เป็นปลัดทัพและ“เมคะราโป”เป็นแม่ทัพหน้า เมื่อ'มหานรทา'เกิดล้มป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้ ก็สงสัยกันทั้งกองทัพว่า'เนเมีย วสีหบดี'เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางยาฆ่า'มหานรทา'เพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ และช่วงชิงความดีความชอบเพราะกรุงศรีอยุธยาไม่มีทางรอดพ้นเงื้อมมือพม่าไปได้ คงจะเสียกรุงในไม่ช้าแล้วเมื่อรบชนะแล้วความดีความชอบจะตกแก่'เนเมียวสีหบดี'แต่เพียงผู้เดียว บรรดาแม่ทัพรองของ'มหานรทา'จึงสั่งให้ทหารในสังกัดตนตั้งมั่นไว้เพื่อรอดูท่าทีของ'เนเมียวสีหบดี'ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร                     

                   ฝ่าย'เนเมียวสีหบดี'เมื่อมาเยี่ยม'มหานรทา'ที่ค่ายได้เห็นท่าทีของทหารที่ยกมาทางทวายนั้นผิดปกติอยู่ก็รู้ว่าตนเองถูกระแวงสงสัย จึงเตรียมพร้อมโดยเรียกทหารที่ยกไปตี'กรมหมื่นเทพพิพิธ'ทางปราจีนบุรีให้รีบกลับมาอีกทั้งกำชับทหารในสังกัดของตนให้ตั้งมั่นไว้อย่าได้ประมาท จนเมื่อ'มหานรทา'เสียชิวิต'เนเมียวสีหบดี'ก็กำชับให้ทหารทั้งสองค่ายให้ปกปิดข่าวการเสียชีวิตของ'มหานรทา'เพราะเกรงว่าจะเกิดโกลาหลอีกทั้งเพื่อมิให้ฝ่ายอยุธยาทราบแล้วจึงเรียก
บรรดาแม่ทัพรองของ'มหานรทา'มาร่วมประชุมกัน ตกลงแจ้งข่าวไปให้พระเจ้า'มังระ'เป็นผู้ตัดสินใจซึ่งทหารฝ่ายของ'มหานรทา'คงแอบแจ้งข่าวไปด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะ'ทันที ที่พระเจ้า'มังระ'ทราบข่าว ก็แต่งตั้งเจ้าเมืองเมาะตะมะชื่อ 'เมงเยเมงละอูสะน่า' เป็นแม่ทัพให้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในกองทหารของ'มหานรทา'ทั้งหมดและมอบกำลังพลมา สมทบด้วยจำนวน๓,๐๐๐นาย โดยให้'เนเมียวสีหบดี'เป็นแม่ทัพใหญ่แทน'มหานรทา'     

                  ข่าวการเสียชีวิตของ'มหานรทา'ไปถึง“พระเจ้ามังระ”
วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่จุลศักราช ๑๑๒๘ ตรงกับวันที่ ๙ ม.ค.๒๓๑๐ และอีก ๒๐ วัีนต่อมากองทหารของแม่ทัพทางทวายคนใหม่ก็เดินทางมาถึงพร้อมกับนำคำสั่งจากพระเจ้า'มังระ'ความว่า'ให้เร่งกรุงศรีอยุธยาให้ได้โดยเร็ว เมื่อตีได้แล้วให้เก็บริบพลทหารพลเมืองแลทรัพย์สมบัติสาตราอาวุธทั้งสิ้นให้หมด แล้วกลับมายังพระนคร' และเมื่อพิจารณาถึงวันที่'เนเมียวสีหบดี'จัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้วและรวม เวลาเดินทางของม้าเร็วด้วยก็จะใช้ประมาณ๖-๗วัน 'มหานรทา'จึงน่าจะเสียชีวิตประมาณวันที่๒-๓มกราคม(พงศาวดารไทยว่าตายก่อนฤดูน้ำหลากเล็กน้อยซึ่งไกลกันมาก)เมื่อไฟไหม้กรุงศรีอยุธยาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในวันที่๓ม.ค.๒๓๑๐คือช่วงเวลาที่มหานรทาทรุดหนักใกล้เสียชีวิตพอดีทัพพม่าตั้งประจันหน้าระแวงกันเองอยู่ทำให้ 'พระยาตาก'นำ'พระเชียงเงิน''หลวงพรหมเสนา''หลวงราชสเน่หา''หลวงพิชัยอาสา''ขุนอภัยภ้กดี'ขุนหมื่นพันทนายและพลทหารรวม ๕๐๐นายสามารถตีฝ่าวงล้อมอันมหึมาของทหารพม่า ๑๕,๐๐๐นายออกมาได้โดยปลอดภัย.มิเช่นนั้น.หน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย.คงมิได้เป็นแบบนี้

 
ตีฝ่ากองทัพพม่
              
           ...ย้อนกลับมาที่อยุธยา หลังจากคณะทูตกลับมาแจ้งข่าวว่าพม่าไม่ยอมรับการขอเป็นเมืองขึ้น
จากฝ่ายไทยแล้ว กองทัพ“พระยาตาก”ที่ตั้งค่ายอยู่ที่วัดพิชัยมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์พ.ศ.๒๓๐๙จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๓๐๙ รวม๑๐เดือนโดยที่พม่าไม่สามารถตีค่ายนี้ให้แตกได้ แต่ก็เหลือทหารในสังกัดไม่มากนัก แต่จากข่าวที่ว่า“ให้ทำลายกรุงศรีอยุธยาลงให้สิ้นและกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติทั้งหมดกลับไปยังพม่า”นั้นพม่าทำให้เห็นมาแล้วในทุกเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อมในช่วงต้นของสงคราม กล่าวคือเมื่อเข้าเมืองได้ก็เผาแล้วก็ปล้น ข่มขืน ฆ่า ทหารคนใดจับผู้คนหรือยึดข้าวของเงินทองได้ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้นั้น ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยึดได้ทั้งหมดก็มอบให้แม่ทัพของตน


                กองทหารที่ค่ายวัดพิชัยนั้นทราบดีว่าอย่างไรเสียกรุงศรีอยุธยาคงไม่พ้นจากการยึดครองของพม่าไปได้เจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของ'พระยาตาก'ที่จะรวบรวมผู้คนมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาจึงได้เกิดขึ้นในช่วงนี้ หากกรุงศรีอยุธยาแตกในวันใด'พระยาตาก'ก็จะนำทหารจากค่ายวัดพิชัยที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้ตีฝ่าออกไปข้างหน้าเพื่อไปรวบรวมผู้คนมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้หลุดพ้นจากพม่า-รามัญเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งใดแต่ติดปัญหาที่สำคัญคือ เมืองที่ทหารพม่าสร้างล้อมกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๒๗ เมืองนั้น อยู่ทางด้านวัดพิชัยถึง ๕ เมืองและถ้านับตามจำนวนของทหารพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นไม่น้อยกว่า ๗๐,๐๐๐นาย ทำให้ในแต่ละเมืองจะมีทหารไม่น้อยกว่า๒,๐๐๐นายเว้นแต่เมืองของแม่ทัพทั้งสองนั้นมีทหารเมืองละ๑๐,๐๐๐นาย ทหารพม่าที่ล้อมค่ายวัดพิชัยของ“พระยาตาก”จึงมีไม่น้อยกว่า๑๐,๐๐๐นาย แต่ทหารที่ค่ายวัดพิชัยมีทหารที่ติดตามมาแต่เมืองตากและเมืองเชียงเงินรวมแล้วประมาณ ๕๐๐ นายเท่านั้นที่เต็มใจยกไปกับ'พระยาตาก'

               
'พระยาตาก'จึงได้วางแผนและนัดหมายกันว่าหากวันใดพม่าเข้าเมืองได้กองกำลังที่เหลืออยู่นี้จะตีฝ่ากองทัพพม่าไปทางหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างรวดเร็วมิให้ทหารพม่าตั้งหลักได้ทัน โดยมอบให้พระเชียงเงินรับผิดชอบรวบรวมเสบียงอาหารตลอดจนดูแลครอบครัวของบรรดาแม่ทัพนายกองและทหารหาญที่จะตีฝ่าไปด้วยกัน อีกทั้งมอบหมายให้พระเชียงเงินเคลื่อนย้ายเสบียงและครอบครัวทหารนั้นไปไว้ในจุดที่ปลอดภัยกว่า ทำให้เมื่อยกฝ่าไปนั้นพระเชียงเงินต้องใช้เวลาหลายวันจึงตามทัพของ'พระยาตาก'ได้ทันและ'พระยาตาก'เองก็ต้องค่อยๆเดินทัพเพราะรอเสบียงจากพระเชียงเงินโดยที่หลังจากพระเชียงเงินตามมาทัน กองทัพ'กู้ชาติ'ของ'พระยาตาก'ก็ไม่เคยขัดสนเรื่องเสบียงอาหารอีกเลยจนถึงเมืองระยอง

 
รบพม่าด้วยค่ายกล
             
              ครั้นถึงวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอจุลศักราช ๑๑๒๘ เพลาสองยามเศษตรงกับวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๓๑๐ เกิดเพลิงไหม้กรุงเทพ มหานคร(กรุงศรีอยุธยา)ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายตลอดถนนหลวงไปจนถึงวัดฉัททันต์ แสงเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ....”
ทหารทุกคนที่ค่ายวัดพิชัยจึงเข้าใจว่าเสียกรุงและพม่าเป็นผู้เผาเมืองจึงได้กรูกันออกมาอย่างน้อย๒ทางคือ“พระยาตาก”๑และ“พระเชียงเงิน”อีก๑. โดย'พระยาตาก'ตีฝ่าเปิดทางออกไปก่อนเพื่อให้พระเชียงเงินไปนำเสบียงและครัวทหารยกตามไปได้โดยสะดวก ไฟไหม้ครั้งนั้นแสงเพลิงจับท้องฟ้าสว่างจ้ามองเห็นได้แต่ไกล ทหารแห่งค่ายวัดพิชัยที่ยกฝ่าไปนั้นเข้าใจว่าพม่าเผาเมืองต่างสังเวชสลดใจไปตามกัน

                      ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้นห้าค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๘ ปีจอ กองทัพ'พระยาตาก'ยกไปถึงบ้านโพสังหารเห็นพม่ายกกองทัพติดตามมา จึงสั่งให้ทหารเตรียมพร้อมไว้ เมื่อกองทัพพม่ายกมาถึง'พระยาตาก'ก็นำหน้าทหารออกรบกับพม่าแบบตะลุมบอน พม่าสู้ไม่ได้พ่ายแพ้แตกกระจัดกระจายไปยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมากหลังจากนั้น'พระยาตาก' จึงหยุดพักกองทัพที่บ้านพรานนกขณะที่ทหารออกไปเที่ยวหาอาหารอยู่นั้นก็พบกองทัพพม่าไล่ฆ่าฟันผู้คนมาทางบางค่างมุ่งตรงเข้ามา 'พระยาตาก' กับทหารม้ารวมสี่ม้าก็ยกออกมารับกองทัพพม่าอยู่ตรงกึ่งกลางก่อน ส่วนทหารราบทั้งปวงให้ตั้งแถวเป็นแนวปีกกาทั้งสองข้างขนาบทหารม้าทั้ง๔ม้านั้นแล้วสั่งให้รบบีบไปข้างหน้าเข้าปะทะกับกองทหารม้า ๓๐ม้าของพม่าแตกพ่ายไปด้านหลังปะทะกันเองกับทหารราบเดินเท้า๒,๐๐๐นาย วุ่นวายโกลาหลจนทหารพม่าแตกกระจัดกระจายไป

              ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน เดือนยี่ขึ้นหกค่ำปีจออัฐศกขุนชำนาญไพรสณฑ์และนายกองสวามิภักดิ์เอาช้างมาถวายพลายห้าพังหนึ่งเป็นหกช้างหลังจากนั้นขุนชำนาญไพรสณฑ์จึงนำ'พระยาตาก'ไปพักที่ชุมชนบ้านดง 'พระยาตาก'ได้ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมชุมชนบ้านดงหลายครั้งหลายหนก็ไม่มีใครมีใจจะช่วยรบด้วยแถมชาวชุมชนบ้านดงเห็นว่าตนอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่าอีกทั้งจำนวนคนและศาสตราวุธก็ได้เปรียบจึงแสดงอาการที่ท้าทายทหารฝ่าย'พระยาตาก'อีกด้วยทำให้อีก ๒ วันถัดมาคือ วันขึ้นแปดค่ำเดือนยี่ปีจออัฐศก 'พระยาตาก'จึงขึ้นม้านำหน้าทหารตีฝ่าเข้าไปยังชุมชนบ้านดงเพื่อแสดงแสนยานุภาพทหารชาวบ้านดงสู้ไม่ได้ก็แตกกระจายแหกค่ายหนีไป ได้ช้างเพิ่มอีกเจ็ดช้าง อีกทั้งยึดได้อาหารอีกเป็นอันมาก

              เจตนารมณ์ของ“พระยาตาก”เมื่อตีฝ่ากองทัพพม่าออกมาจากค่ายวัดพิชัยนั้นคือต้องการไปรวบรวมผู้คนมารบกับพม่าเพื่อกู้กรุงศรีอยุธยา การดำเนินการดังกล่าวนั้นสถาบันชาติไทยหรือชนชาติไทยคือตัวตั้งที่ชาวไทยหวงแหน การกู้คืนจึงเป็นหน้าที่ ที่คนไทยปฏิเสธไม่ได้ ประกอบกับพม่านั้นถือเป็นคู่กัดทางสงครามมายาวนาน การรบกับพม่าถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของคนไทยในสมัยนั้นศึก“บางระจัน”คือเหตุการณ์ร่วมสมัยที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ความสมัครใจของบุคคลที่จะมาร่วมรบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นหน้าที่ของ“พระยาตาก”คือการประสานร้อยใจคนไทยที่จะมาร่วมรบให้เป็นหนึ่งเดียว การใช้กำลังบังคับนั้นผู้ถูกบังคับจะไม่สมัครใจและสุดท้ายก็จะแอบหนีไปหมด ฉะนั้นการโจมตีชุมชนบ้านดงจึงเป็นข้อห้ามที่สำคัญในงานกู้ชาติของ“พระยาตาก”ไม่ว่ากรณีใดๆ“พระยาตาก”ไม่มีสิทธิทำลายบ้านดงเพราะการทำลายบ้านดงนั้นจุดยืนในการกู้ชาติของ“พระยาตาก”จะถูกทำลายตามไปด้วย

               การที่ชาวบ้านดงไม่ประสงค์จะไปร่วมรบและไม่แบ่งอาหารให้กองทัพของ“พระยาตาก”นั้น ชุมชนบ้านดงสามารถหาเหตุผลมาปฏิเสธได้มากกว่าร้อยเหตุผลโดยที่“พระยาตาก”ไม่มีสิทธิที่จะโกรธ แต่หลังจากรอพระเชียงเงินอยู่ตรงนั้นได้ ๒ วันความจำเป็นจึงเกิดขึ้นเพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้องและ”พระยาตาก”กับทหารจากค่ายวัดพิชัยก็เข้าใจตรงกันว่าพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว ”พระยาตาก”จึงอยู่ในฐานะผู้นำในการกู้กรุงศรีอยุธยา เมื่อมีการกระทบกระทั่งและมีการดูถูกกันก็ทำให้ขาดการยั้งคิดจึงเกิดรบกันขึ้น บทสรุปคือ”พระยาตาก”ชนะได้ช้างเพิ่มอีก ๗ ช้าง ได้อาหารและอาวุธหนักประเภทปืนและปืนใหญ่เพิ่มขึ้นมากมาย แล้วจึงเดินทัพต่อไป

              ครั้น วันพุธ ขึ้นเก้าค่ำ เดือนยี่ ปีจออัฐศก กองทัพ'พระยาตาก'ก็มาถึงตำบลหนองไม้ทรุง เมืองนครนายกเดินทางต่ออีกสองวันมาถึงบ้านนาเริ่งหยุดพักกองทัพวันหนึ่งแล้วเดินทางต่อถึงด่านกบแจะเมืองปราจีน ข้ามฟากไปฝั่งตะวันออกจึงหยุดพักหุงหาอาหารแล้วเดินลัดทุ่งไปจนไปเรื่อยๆเพื่อรอพระเชียงเงิน จนเย็นพระเชียงเงินก็ยังมาไม่ทันจึงพักทัพ

               ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ ขึ้นสิบสามค่ำ
เดือนยี่ เดินทัพเข้าไปในป่าจนถึงสำนักหนองน้ำจึงพักทัพให้ทหารหุงหาอาหารกินจนถึงเวลาบ่ายสองโมงกองทหารของพระเชียงเงินจึงเดินทางมาสมทบ(มีม้ามาเพิ่มอีก ๒ ม้า)'พระยาตาก'จึงมอบช้างพลายแหวนกับพังม้วนให้พระเชียงเงินรวม ๒ ช้างเป็นความชอบที่นำเสบียงและครัวทหารมาถึงอย่างปลอดภัย หลังจากนั้นช่วงเย็นเห็นทหารพม่าจากค่ายที่ปากน้ำเจ้าโล้ยกมาทั้งทัพบกและทัพเรือมาขึ้นที่ท่าข้าม ไล่ฆ่าฟันผู้คนมาแต่ไกล มุ่งตรงมาในทิศทางนี้'พระยาตาก'จึงให้นายบุญมีมหาดเล็ก(เจ้าราม-ลักษณ์)ขึ้นม้าไปดูให้แน่ใจ เมื่อนายบุญมีมหาดเล็กกลับมายืนยันว่าเป็นพม่าแน่แล้ว จึงสั่งให้ทหารขนเสบียงขึ้นหลังช้าง ที่ขึ้นไม่หมดให้หาบไปพร้อมกับครอบครัวทหารล่วงหน้าไปก่อน

              ส่วนที่เป็นพลปืนทั้งปืนใหญ่ปืนยาวประมาณร้อยเศษ
ให้ตั้งค่ายกล''วงล้อมกับดักเสือ'โดยให้ตั้งปืนใหญ่ปืนยาวซุ่มเรียงไว้ในพงแขมสองข้างทางส่วน'พระยาตาก''พระเชียงเงิน''หลวงชำนาญไพรสณฑ์''นายบุญมีมหาดเล็ก' 'นายทองดีทหาร''นายแสงทหาร' ขึ้นม้ารวม ๖ ม้า ยกออกไปยืนล่อทหารพม่านอกระยะปืนประมาณหกเส้นเจ็ดเส้น เมื่อกองทหารพม่ากองแรกที่ส่วนใหญ่เป็นกองทหารม้ามาถึง'พระยาตาก'และทหารม้ารวม๖ม้านั้นก็รบพลางถอยพลางล่อทหารพม่าให้เข้ามาในวงล้อม เมื่อทหารพม่าเข้ามาได้ระยะปืนแล้ว จึงสั่งให้ระดมยิงปืนมาชุดใหญ่ถูกกองทหารม้าพม่าล้มตายเป็นอันมากทั้งม้าทั้งคน ทหารพม่าชุดที่สองที่ตามมาเป็นกองทหารราบเคลื่อนที่เร็ว 'พระยาตาก'และทหารม้ารวม ๖ ม้านั้นก็ยกออกไปล่อ รบลวงทหารพม่านอกระยะปืนอีกเช่นเคย เมื่อล่อทหารพม่าเข้ามาจนได้ระยะก็สั่งระดมยิงไปอีกหนึ่งชุดใหญ่
ถูกทหารพม่าล้มตายทับกันเป็นอันมาก แต่ก็ยังมีทหารพม่าชุดใหญ่หนุนกันเข้ามาอีก ทหารม้าทั้ง ๖ ก็ออกไปรบล่อทหารพม่าให้เข้ามาในวงล้อมอีกเป็นครั้งที่สาม และเมื่อระดมยิงไปตับที่สามก็ยังถูกทหารพม่าล้มตายไปเป็นจำนวนมากทหารพม่าที่เหลือรอดตายเพียงเล็กน้อยก็แตกกระจัด กระจายไปคนละทิศคนละทาง
                   นับแต่นั้นก็ไม่มีทหารพม่ายกออกมารบกับกองทัพของ'พระยาตาก'อีกเลย


ตอนต่อไปเป็นเส้นทางเดินทัพ



                                                                      [ก่อนหน้า][ตอนต่อไป]

.