ประกาศตนเป็นเจ้าที่ระยอง

เมื่อ 11/06/2013
                                                                                                                                           ภายในบริเวณศาลวัดลุ่มมหาชัยชุมพล จ.ระยอง ในปัจจุบัน                                

                                                                     ประกาศตนเป็นเจ้าที่ระยอง
             

              ผมขออนุญาตทุกท่านอธิบายเหตุการณ์ที่ระยองทั้งหมดเป็นภาษาชาวบ้านให้ทุกท่านทัศนาก่อน ดังนี้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นในการรวบรวมผู้คนหลังจากพระเชียงเงินมาสมทบแล้ว“พระยาตาก”ก็เดินทัพเลียบชายฝั่งทะเลโดยให้ทหารล่วงหน้าไปป่าวประกาศให้ทุกๆหัวเมืองที่จะผ่านจึงเป็นการเดินทัพแบบช้าๆไม่ได้รีบร้อนอะไรโดยมีเจตนาเกลี้ยกล่อมผู้คนให้มาสมทบให้มากที่สุดและเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดกับเมืองต่างๆที่ต้องเดินทัพผ่าน“พระยาตาก”จึงพักกองทัพอยู่นอกเมืองตลอดมา แม้กระนั้นก็ยังเกิดเหตุสุดวิสัยด้วยไม่สันทัดเส้นทางจึงเกือบกระทบกระทั่งกับกำนันกลมบ้านนาเกลือ แต่ด้วย“พระยาตาก”มุ่งมั่นแต่จะรวบรวมผู้คนที่มีใจรักชาติ การใช้กำลังกับคนไทยด้วยกันเองมีแต่จะสูญเสียและจะไม่มีผู้คนมาเข้าด้วยงานที่ตั้งใจไว้ก็จะเสียเปล่า“พระยาตาก”จึงไม่ยอมทำลายกองกำลังของนายกลม แล้วก็ถือโอกาสศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างของภูมิภาคตะวันออกตั้งแต่ผู้คน ความเป็นอยู่และย่อมรวมถึงการสอบถามนายกลมเกี่ยวกับขุมกำลังของภูมิภาคนี้ถึง๒คืนเช้าวันที่๒จึงเดินทางต่อ

              จนเมื่อใกล้ถึงเมืองระยองก็จะเดินทัพช้าๆและเป็นระยะสั้นๆในแต่ละวันเพื่อรอผู้คนที่จะมาสมทบตามที่ได้ส่งทหารไปเกลี้ยกล่อมแต่ก็หาผู้คนมาสมทบกับ“พระยาตาก”ได้ไม่มากนักเพราะผู้คนภูมิภาคตะวันออกไม่มีใครรู้จักวีรกรรมในการรบของ“พระยาตาก”และที่เส้นทางเลียบเมืองระยอง“พระยาตาก”เดินทัพสั้นๆอีก๒วัน คือพักที่บ้านหินโด่งและน้ำเก่า(บ้านเก่า-ดูแผนที่ประกอบ)อันอยู่นอกเมืองระยอง การดำเนินการอย่างตั้งใจของ“พระยาตาก”ทำให้ผู้รั้งเมืองระยองศรัทธาเลื่อมใสประกอบกับกองทัพของ“พระยาตาก” ไม่ได้แสดงท่าทีคุกคามหรือแสดงอาการว่าจะเป็นภัยกับเมืองระยอง ผู้รั้งเมืองระยองจึงแสดงน้ำใจมอบอาหารให้๑เกวียนตามนิสัยของคนภูมิภาคนี้ และได้นำไปมอบที่'บ้านเก่า'ก่อนที่ทัพของ“พระยาตาก”จะเดินทางต่อไปยังเมืองจันทบุรี โดยผู้รั้งเมืองระยองเป็นหัวหน้าคณะนำไปมอบเอง แต่การสนทนาปราศรัยตามทำเนียมของทั้ง๒ฝ่าย ทำให้“พระยาตาก” ทราบว่า“มหาชื่น”กลับมาจำพรรษาที่วัดลุ่มฯนอกเมืองระยองได้หลายพรรษาแล้วจึงวกทัพกลับเข้าเมืองระยองเพื่อสนทนาธรรมกับ“มหาชื่น”ตามศรัทธาของตน

                แต่เมื่ออยู่ได้สองวันผู้รั้งเมืองระยองเกิดความระแวงเกรงว่าจะเป็นภัยกับเมืองระยอง จึงประชุมปรึกษาหารือกับกรมการเมืองและเหล่าหัวหน้ากลุ่มต่างๆของเมืองระยอง โดยผู้รั้งเมืองระยองเห็นว่ากำลังพลของ“พระยาตาก”มีไม่มากเกินกำลังของเมืองระยองจึงไม่จำเป็นต้องแจ้งไปยังเมืองจันทบุรีเพื่อขอกำลังสนับสนุนประกอบกับ“พระยาตาก”ยังไม่คุ้นเคยกับชัยภูมิและพื้นที่เหมือนชาวระยองที่สามารถหลับตาเดินได้ทั่วทั้งเมือง หากชาวระยองอาศัยช่วงเวลากลางคืนเข้าร่วมกันปล้นค่ายของ“พระยาตาก”โดยพร้อมเพียงก็จะขับไล่ทัพของ“พระยาตาก”ออกนอกเมืองได้อย่างง่ายดายซึ่งเมื่อตกลงนัดหมายกันดีแล้วก็ให้แยกย้ายกันไปตระเตรียมผู้คนและความพร้อม.


             .แต่ในการประชุมครั้งนั้นมีหัวหน้ากลุ่มคนอย่างน้อย๓คนที่เป็นลูกศิษย์ของ“มหาชื่น”และได้รู้เห็นได้เห็นการเสวนาระหว่างพระอาจารย์กับ“พระยาตาก”มาโดยตลอด ได้ตัดสินใจนำเรื่องนี้มาแจ้งกับ“มหาชื่น”ซึ่ง“มหาชื่น”นั้นมีใจให้“พระยาตาก”เป็นทุนอยู่แล้ว จึงแนะนำให้ทั้งสามท่านมา“แจ้งข่าว”ต่อ“พระยาตาก”ย้ำว่า“แจ้งข่าว”ไม่ได้มีการสวามิภักดิ์ตามที่ปรากฏในพงศาวดารว่า*“เสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดลุ่ม สองเวรสั่งให้จัดลำเลียงอาหารตั้งค่ายขุดคูและนายบุญรอดแขนอ่อน นายหมวด นายบุญมาน้องเมียพระยาจันทบุรีเข้ามาถวายตัวทำราชการ”*เพราะ๑.ยังไม่ได้ประกาศตนเป็นเจ้าและ๒.ผู้แจ้งข่าวทั้ง๓ไม่ได้ร่วมรบด้วยในคืนนั้น*.“ทหารไทยถือปืนคาบศิลาหลวงชำนาญไพรสณฑ์ นายทองดีทหารหลวงพล พระเชียงเงินท้ายน้ำ หลวงพรหมเสนา นายบุญมี นายแสงทหารนายศรีสงคราม นายนากทหาร พะทำมะรงอิ่ม ทหารจีน หลวงพิพิธ หลวงพิชัย ขุนจ่าเมืองเสือร้าย หมื่นท่องหลวงพรหม ถือดาบง้าว เสด็จออกเที่ยวตรวจตรารอบค่ายดูท่าทาง..”ต่อเมื่อจะต้องไปจันทบุรีแล้วจึงเริ่มมีชื่อปรากฏ*“...จะให้ไปเจรจาโดยยุตติธรรม ให้พระยาจันทบุรีอ่อนน้อมลงอย่าให้เกิดยุทธสงคราม ได้ความเดือดร้อนแก่สมณพราหมณา ประชาราษฎรได้นั้น จึงเสนาหบดีนายทัพนายกองทั้งปวงปรึกษาพร้อมกันกราบบังคมทูลว่าเห็นแต่นายบุญมีมหาดเล็ก นายบุญรอดแขนอ่อน บานบุญมาน้องเมียพระยาจันทบุรีสามคนนี้จะได้ราชการ...”

              สรุปว่าหลังจากขุนทหารเมืองระยองมาแจ้งข่าวแล้วกลับไปสิ่งที่“พระยาตาก”ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการพิสูจน์ว่าข่าวที่นำมาแจ้งนั้นจริงเท็จประการใดตามวิสัยชายชาตินักรบและด้วยเพราะ“พระยาตาก”ไม่เคยมีเจตนาคุกคามเมืองระยองมาก่อน ย่อมมีความบริสุทธิ์ใจ(วันแรกยังไม่ได้ตั้งค่ายเลย)จึงไม่มีอะไรที่ต้องกริ่งเกรงเจ้าเมืองระยอง การเชิญเจ้าเมืองระยองมาปรึกษาข้อราชการที่วัดลุ่มฯนั้นหากเจ้าเมืองระยองไม่มาย่อมแสดงว่ามีเหตุอันพิรุทธ์เจ้าเมืองระยองเองก็ต้องทราบเหตุผลในข้อนี้จึง(จำเป็น)ต้องมา แต่เมื่อเผชิญหน้ากันด้วยอำนาจบารมีจึงทำให้เจ้าเมืองระยองแสดงอาการพิรุทธ์จึงให้หลวงพรหมคุมตัวไว้ในโบสถ์ของวัดลุ่มฯเหตุที่ต้องใช้คำว่า“คุมตัวผู้รั้งเมืองระยอง”โดยไม่ประหารโดยทันทีนั้นเป็นเรื่องธรรมดามากเพราะเจ้าเมืองระยองไม่ได้ยอมรับเพียงแต่แสดงอาการพิรุทธ์ออกมาเท่านั้น หากประหารไปแล้วไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น“พระยาตาก”จะตอบคำถามของทั้งสามกองทัพที่ล้อมรอบอยู่ว่าอย่างไร

               ประการต่อมาคือเจ้าเมืองระยองเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ การคุมตัวหัวหน้าไว้แบบมีชีวิตย่อมมีประโยชน์มากเมื่อถึงคราวจำเป็นสำหรับเรื่องที่“พระยาตาก”มีทหารไม่มากเมื่อถึงเมืองระยองนั้นนักวิชาการทั้งหลายต่างสรุปไว้ตรงกัน แต่วิเคราะห์ให้เห็นถึงความจริงในเหตุผลไม่ได้จึงเลี่ยงๆไปใช้เหตุผลอื่นด้งตัวอย่างต่อไปนี้..
.
“นอกจากเมืองชลบุรีหรือบางปลาสร้อย เมืองจันทบูรก็เป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง เกินกว่าที่กำลังของพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยึดได้ง่ายๆพระองค์เสด็จออจากอยุธยาได้๑๗ วันก็มาถึงพัทยา อีก ๓ วันต่อมาก็เสด็จไปถึงสัตหีบ และพระระยองก็ได้มาเชิญเสด็จเข้าระยองในเวลาต่อมาหมายความว่ารวมเวลาไม่ถึงเดือนก็สามารถได้เมืองระยองไว้ในพระราชอำนาจ แต่จำเป็นที่พระองค์ต้องรอเวลาอีกกว่า ๔ เดือนจึงจะสามารถยึดจันทบูรได้”* (นิธิ เอียวศรีวงศ์ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี)
สรุปว่าคุมตัวเจ้าเมืองระยองไว้ก่อน..

               
สรุปว่า “พระยาตาก”สั่งให้หลวงพรหมคุมตัวเจ้าเมืองระยองไว้ก่อนพร้อมทั้งสั่งให้ทหารตั้งค่ายเตรียมรับมือข่าว“พระยาตาก”คุมตัวเจ้าเมืองระยองไว้ย่อมแพร่กระจายไปตามธรรมชาติอีกทั้งพรรคพวกของนายบุญรอดแขนอ่อน นายหมวด นายบุญมาน้องเมียพระยาจันทบุรี ก็ย่อมต้องรู้ข่าวจากบุคคลทั้งสามด้วย จะมีแต่ในส่วนของนายบ้านที่อยู่ไกลออกไปจากตัวเมืองพอสมควรจึงจะไม่ทราบข่าวนี้แต่ส่วนใหญ่ทราบ ทำให้เมื่อถึงเวลานัดหมายจึงมีแต่ของขุนจ่าเมืองด้วงยกมาเพียงกองเดียวและก็มีคนไม่มาก* “..และอ้ายเหล้าร้ายชื่อขุนจ่าเมืองด้วงกับทหารประมาณสามสิบคน ล้อมใต้ตะพานวัดเนินเข้ามา ใกล้ค่ายหลวงประมาณห้าวาหกวา จึงสั่งให้วางปืนพร้อมกัน ถูกขุนจ่าเมืองด้วงกับทหารทั้งปวงซึ่งเดินตามกันนั้นตกตะพานลง พร้อมกันตายเป็นอันมาก...”โดยที่ขณะประชุมและคำนวณกำลังในตอนเช้านั้นแม้ไม่น่าจะมีมากเท่าที่ปรากฏในพงศาวดาร(๑,๕๐๐)แต่ก็คงไม่น้อยกว่า๓-๔๐๐คน “...ขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็ก ขุนจ่าเมืองด้วง หลวงพลแสนหาญกรมการเมืองระยองคบคิดกัน คุมพรรคพวกพลทหารประมาณพันห้าร้อยเศษ จะยกเข้ามากระทำประทุษร้าย.......”

              และด้วยกำลังพลของขุนจ่าเมืองด้วง เท่าที่ปรากฏในพงศาวดารทำให้ข้าพเจ้าเชื่อไปในทางตำนานสีหราชเดโชของพระยาพิชัยฯที่กล่าวว่า*ที่มาของตำแหน่ง “สีหราชเดโช”นั้นมาจากเมื่อครั้งหลวงพิชัยตามเสด็จที่วัดลุ่มฯขณะเมื่อขุนจ่าเมืองด้วงล้อมวงเข้ามานั้น ท่านจ้อยบุกทะลวงไปพร้อมทหารหมู่หนึ่งก็ตัดหัวขุนจ่าเมืองด้วงมาถวายภายในการรบชั่วอึดใจเดียว*“พระเจ้าตาก”ตรัสชมว่า“เจ้ามีฝีมือการรบเหมือนทหารเทวดา เทียบได้กับออกญาสีหราชเดโช(น้อยยะอิปะ)ทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์”

               แต่ไม่ว่ากรณีใดๆคือ“พระยาตาก”เป็นฝ่ายมีชัย เรื่องสำคัญนั้นเกิดตอนเช้า*พงศาวดารว่า“...ครั้น ณ วันฯ จึงสั่งให้ประชุม เสนาทหารนายทัพนายกองไทยจีนทั้งปวงพร้อมกันจึงตรัสประภาษให้ปรึกษาว่าเราจะกระทำ การทั้งนี้ด้วยวิเหสาขาธรรม หามิได้จะให้เป็นสุขมีประโยชน์แก่สมณพราหมณาประชากรทั้งปวง จึงจะเป็นเกียรติยศสืบไป และ เมืองจันทบุรีนี้จะถึงแก่กาลพินาศดุจเมืองระยอง เอ็นดูสัตว์ทั้งปวง จะเห็นผู้ใดมีอัชฌาสัยจะให้ไปเจรจาโดยยุตติธรรม ให้พระยาจันทบุรีอ่อนน้อมลงอย่าให้เกิดยุทธสงครามได้ความเดือดร้อนแก่ สมณพราหมณาประชาราษฎรได้นั้น จึงเสนาหบดีนายทัพนายกองทั้งปวงปรึกษาพร้อมกัน กราบบังคมทูลว่าเห็นแต่นายบุญมีมหาดเล็ก นายบุญรอดแขนอ่อน นายบุญมาน้องเมียพระยาจันทบุรีสามคนนี้จะได้ราชการ....*”

               เรียนย้ำอีกทีว่าพงศาวดารเขียนเมื่อพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่แล้ว “พระเจ้าอยู่หัวอันมีอภินิหารนับในเนื้อ หน่อพุทธางกูรเจ้า”จึงเป็นเรื่องปกติที่จำเป็นต้องมี แต่หากเราคิดในมุมมองของ “พระยาตาก” ที่ขณะนั้นมีทหารน้อยกว่าเมืองจันทบุรีมาก ไหนจะเมืองแกลงของขุนรามหมื่นซ่อง ไหนจะบางปลาสร้อยของนายทองอยู่นกเล็กหากเดินหมากพลาดเพียงตาเดียวคงสูญสิ้นทั้งกองทัพเป็นแน่เพราะเอาแค่สัญชาติญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ การที่“พระยาตาก”คุมตัวเจ้าเมืองระยองไว้ย่อมแสดงตนว่าเป็นภัยคุกคามซึ่งย่อมทำให้บรรดาผู้มีอำนาจต่างๆในภูมิภาคนี้มีความจำเป็นต้องเอาตัวรอดและการเอาตัวรอดที่ดีที่สุดคือการรวมกลุ่มกัน กรณีภูมิภาคตะวันออกนี้ยิ่งง่ายเพราะแทบจะมีความเกี่ยวดองกันหมด

                การกระทำของ“พระยาตาก”ดังกล่าวยิ่งทำให้ทุกเมืองต้องเร่งประชุมกันด้วยซ้ำแต่พงศาวดารเขียนเหมือนทุกหัวเมืองไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆจนเมื่อ“พระยาตาก”ยกทัพไปทุกหัวเมืองก็เตรียมจะรบกับพระองค์โดยไม่มีใครกริ่งเกรง การเตรียมทัพสู้ของบรรดาหัวเมืองตะวันออกนั้นเป็นเรื่องปกติของคนภูมิภาคนี้ที่หากมีใครมารุกราญแต่การนิ่งเฉยในทุกๆเหตุการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าเป็นภัยคุกคามอย่างชัดเจนนั้นเป็นเรื่องผิดปกติเป็นอย่างมากดังกรณีของเจ้าเมืองจันทบุรีที่พงศาวดารบรรยายให้ทุกคนตั้งคำถามในใจว่า “ทำไมไม่ทำอะไรเลย”

               ถึงตรงนี้ก็จะขออธิบายต่อไปเลยว่าสิ่งจำเป็นลำดับแรกคือการปรึกษากับพระ“มหาชื่น”และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พระ“มหาชื่น”ต้องออกหน้าเพราะ“พระยาตาก”ไม่ได้มีเจตนานอกเหนือไปจากการรวบรวมผู้คนไปช่วยกู้กรุงศรีฯ เจ้าเมืองระยองต่างหากที่ผิดพลาด เมื่อเป็นเช่นนั้นการที่ระบุว่า*
“..เห็นแต่นายบุญมี มหาดเล็ก นายบุญรอดแขนอ่อน นายบุญมาน้องเมียพระยาจันทบุรีสามคนนี้จะได้ราชการ....”จึงต้องเป็นไปตามนั้นเพราะ
             ๑.นายบุญมีมหาดเล็ก(เจ้ารามลักษณ์)เป็นพระเจ้าหลานเธอที่ทรงไว้ใจที่สุดและเป็นเสมือนตัวแทนของ“พระยาตาก”
              ๒.นายบุญรอดแขนอ่อนผู้กว้างขวางในภูมิภาคนี้และย่อมเป็นศิษย์ก้นกุฏิของพระ“มหาชื่น”เป็นตัวแทนของพระ“มหาชื่น”และจะเป็นลักษณะนี้ในทุกๆเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับภูมิภาคนี้
              ท่านที่๓.คือนายบุญมาน้องเมียเจ้าเมืองจันทบุรีแปลง่ายๆคือพระยาจันทบุรีมีภรรยาเป็นชาวระยองซึ่งโดยศักดิ์ฐานะนั้นต้องเรียกว่าเป็นตระกูลใหญ่ประจำเมืองระยอง ท่านเป็นลูกศิษย์พระ“มหาชื่น”แต่ท่านไปในฐานะที่ต้องไปยืนยันให้พี่เขยทราบความจริงเพราะท่านเองก็อยู่ในเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองระยองเรียกประชุมและเป็นหนึ่งในผู้ที่ไปแจ้งข่าวกับ“พระยาตาก”ตามคำแนะนำของพระ“มหาชื่น”สิ่งที่สามารถจะแสดงให้เห็นว่า“พระยาตาก”ไม่ได้มีเจตนาคุกคามก็คือการไม่ได้ประหาร“ชีวิต”ของเจ้าเมืองระยอง จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเจ้าเมืองระยองจึงสูญหายไปเฉยๆเหมือนไม่เคยมีตัวตน

                การที่พงศาวดารจะระบุว่ามีความจำเป็นต้องอดทนเพื่องานใหญ่นั้นย่อมทำให้“อภินิหารนับในหน่อ
เนื้อพุทธางกูรเจ้า” ถูกทอนอำนาจลงจะไม่สมพระเกียรติ์ ดีไม่ดีคนบันทึกจะโดนหวายเอาด้วยซ้ำ แต่ในปัจจุบันเหตุและผลเป็นเรื่องสำคัญภาษากฎหมายเรียกว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”หมายความว่าผลที่เกิดจะบอกการกระทำ หากเรายังอิงอภินิหารก็จะมีคำถามตามมาไม่หยุดสรุปง่ายๆว่านี่คือสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ที่ใครๆก็ต้องมี การที่ส่งมอบเจ้าเมืองระยองนั้นได้แสดงเจตนาให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า “พระยาตาก”ไม่ใช่ภัยคุกคามและเมื่อน้องเมียอธิบายเจตนาและการดำเนินการณ์ต่างๆของ“พระยาตาก”เจ้าเมืองจันทบุรีจึงมีความเลื่อมใสและช่วยแบ่งเบาในเรื่องอาหารอันเป็นสันดานปกติของคนภูมิภาคนี้คือเหมือนกันทั้งระยองและจันทบุรีที่เมื่อเห็นว่าไม่เป็นภัยคุกคามและทราบถึงการกระทำที่ถือเป็นภาระของไทยทั้งแผ่นดิน น้ำใจอย่างแรกจึงเหมือนกันหมดคือ อย่าให้พวกเขาต้องขัดสนเสบียงอาหารพระยาจันทบุรีจึงมอบอาหารให้สี่เกวียน ทั้งหมดเป็นเหตุและผลที่ปกติธรรมดาที่สุดของคนภูมิภาคนี้ จึงจะเห็นได้ว่า“พระยาตาก”อยู่ระยองได้สบายๆตราบที่ไม่แสดงให้เห็นว่าเป็นภัย(๔-๕เดือนคือตั้งแต่๓๐ม.ค.๒๕๓๐-๑๔ มิ.ย.๒๕๓๐)

       
ตัวเชื่อมที่มีน้ำหนักมากของภูมิภาคนี้ก็คือนายบุญรอดแขนอ่อนที่มีเงาของพระ“มหาชื่น”อยู่ข้างหลังกับนายบุญมาน้องเมียอันมีชาติตระกูลที่มีแต่ผู้คนเคารพนับถือแห่งเมืองระยองทำให้เจ้าเมืองจันทบุรีที่นอกจากไม่ทำอะไรเลยแล้วยังต้องเอาข้าวมาช่วยอีกต่างหาก เหตุผลและน้ำใจแบบนี้คนภูมิภาคนี้เขาเข้าใจได้ในทันทีโดยไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก เหตุและผลของการณ์นี้มีต่อยาวไปถึงเมื่อครั้งที่พระองค์ยกทัพไปตีเขมรในการศึกครั้งนั้นจับเจ้าเมืองจันทบุรีได้ที่พุทไธมาศแต่ไม่ได้ประหาร*(ไม่ปรากฏในพงศาวดารแต่ปรากฏในจดหมายรายวันกองทัพสมัยกรุงธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๔)..เหตุการณ์ที่ผ่านมาตามพงศาวดารถือว่าผิดปกติพอสมควรแต่เหตุการณ์ที่จะตามมาจะมีความผิดปกติมากกว่าถ้าไม่อธิบายให้เข้าใจ.เพราะสามารถอธิบายให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่จะฉายแววออกมาเด่นชัดที่สุด..คือเหตุการณ์ที่เป็นจุดกำเนิดของ
“ชุมนุมเจ้าตาก”ที่ยิ่งใหญ่จนมีผู้คนเข้าร่วมมากมายจนสามารถกู้กรุงได้ในเวลาอันรวดเร็ว...


                      สรุปว่าหลังจากที่รบกับทหารระยอง(บางส่วน)ไปแล้วต่อมา”พระยาตาก”โดยการแนะนำของพระ”มหาชื่น”จึงได้มอบให้นายบุญมีมหาดเล็ก(เจ้ารามลักษณ์)นายบุญรอดแขนอ่อนนายบุญมาน้องเมียเจ้าเมืองจันทบุรีเป็นทูตไปเจรจากับพระยาจันทบุรีที่เมืองจันทบุรีเมื่อเจ้าเมืองจันทบุรีทราบข่าวโดยทั้งสิ้นจากการพูดคุย-เป็นการส่วนตัวกับน้องภรรยาแล้วเจ้าเมืองจันทบุรีจึงแจ้งแก่นายบุญมีมหาดเล็ก(เจ้ารามลักษณ์)ให้กลับมาแจ้งแก่“พระยาตาก”ว่า*ทางเมืองจันทบุรีไม่ขัดข้องที่พระยาตากจะรวบรวมผู้คนเพื่อกอบกู้กรุงศรีอยุธยาและเมื่อพระยาตากหมองใจกับเจ้าเมืองระยองเสียแล้วก็จะขอรับเจ้าเมืองระยองและครอบครัวมาไว้เสียที่-เมืองจันทบุรีโดยให้พระยาตากตั้งหลักปักฐานรวบรวมผู้คนที่เมืองระยองนั้นโดยสุขสงบและในชั้นต้นเมือง-จันทบุรีจะช่วยสนับสนุนด้านเสบียงอาหารคาดว่าจะใช้เวลา๔-๕วันขบวนอาหารก็จะถึงเมืองระยองแลเมื่อพระยาตากรวบรวมผู้คนจนพรั่งพร้อมที่จะยกไปช่วยกรุงศรีอยุธยาแล้วไซร้ ก็ให้แจ้งมายังเมืองจันทบุรีเพื่อที่เจ้าเมืองจันทบุรีจะได้คิดอ่านช่วยเหลือเพื่อรบกับพม่า โดยเจ้าเมืองจันทบุรีจะนำไพร่พลยกมาต้อนรับถึงประตูเมืองระยอง”

                  นับแต่นั้น“พระยาตาก”ก็ยั้งอยู่เมืองระยองเพื่อส้องสุมผู้คนอยู่ โดยได้สั่งให้ย้ายทหารมาตั้งค่ายที่บริเวณวัดร้างกลางป่าประดู่แขวงเมืองระยอง(ปัจจุบันคือวัดป่าประดู่ตำบลท่าประดู่ขณะเมื่อพ.ศ.๒๓๑๐นั้นคงมีแต่ซากพระพุทธรูปปางป่าเรไรและซากพระพุทธไสยาสน์ ตะแคงซ้ายปรากฏคงไว้ให้เห็น)เพราะบริเวณเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม ส่วน“พระยาตาก”นั้นก็มักจะแวะเวียนมาหาพระมหาชื่นเป็นประจำมิได้ขาด..

                  นี่คือเหตุผลที่สามารถสรุปได้แบบไร้ข้อกังขาด้วยกันทุกฝ่าย แต่ที่เกิดข้อกังขามาตลอดนั้นเกิดจากพงศาวดารที่เขียนขึ้นมาในชั้นหลังในครั้งเป็น“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”แต่หากย้อนไปเมื่อครั้งเป็น“พระยาตาก”ขณะเมื่อถึงเมืองระยองในเวลานั้นคงไม่สามารถใช้คำขู่ตามที่ปรากฏเช่นว่านั้นได้*
“...เราจะกระทำการทั้งนี้ด้วยวิเหสาขาธรรมหามิได้จะให้เป็นสุขมีประโยชน์แก่สมณพราหมณาประชากรทั้งปวงจึงจะเป็นเกียรติยศสืบไปและเมืองจันทบุรีนี้จะถึงแก่กาลพินาศดุจเมืองระยอง เอ็นดูสัตว์ทั้งปวง...”และซึ่งหาก“พระยาตาก”แสดงถึงอำนาจดังคำที่ปรากฏนี้จริงตัวข้าพเจ้าก็คาดเดาออกว่าในการณ์ต่อมาหลังจากนั้นประเทศไทยคงไม่ปรากฏชื่อ“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”ให้ลูกหลานได้ระลึกและบูชาดังเช่นปัจจุบัน

                  สรุปว่า“พระยาตาก”โดยความร่วมมือของพระ“มหาชื่น”ได้ส่งตัวแทนของแต่ละฝ่ายและสำทับด้วยน้องเมียของพระยาจันทบุรีได้ดำเนินการด้านการทูตอย่างได้ผลจนเจ้าเมืองจันทบุรีเลื่อมใสช่วยสมทบด้านเสบียงอาหารและหลังจากพักที่วัดลุ่มฯได้๗-๘วันเมื่อคณะทูตกลับมาแล้วก็ได้ย้ายไปตั้งค่ายที่ป่าประดู่แต่มักเรียกท่าประดู่ตามชื่อบ้าน(ตำบล)โดยเริ่มส้องสุมผู้คนตามคำแนะนำของพระ“มหาชื่น”และบรรดาลูกศิษย์ของพระมหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายบุญรอดแขนอ่อนผู้กว้างขวางที่สุดได้ช่วยอธิบายวิถีความเป็นอยู่ตลอดจนบรรดานายทัพนายกองที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับใครทั้งหลายนั้นนายบุญรอดแขนอ่อนจะดำเนินการชักชวนตามคำแนะของพระมหาเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐ หลังออกมาจากกรุงศรีอยุธยาได้ ๑ เดือนโดยประมาณ พระองค์ได้ศึกษาข้อมูลจนได้ทราบว่าเมืองจันทบุรีนั้นมีขุนรามหมื่นซ่องเป็นแม่ทัพคู่กายที่มีฝีมือมากที่สุดเจ้าเมืองจันทบุรีมอบหมายให้คุมด่านหน้าคือแขวงเมืองแกลง และนายทองอยู่นกเล็กที่มีอดีตเป็นขุนโจรใหญ่ที่ห้าวหาญของภูมิภาคนี้เพราะด้วยสำเร็จวิชาคงกระพันชาตรียิงฟันไม่เข้าโดยได้เล่าเรียนมาจากอาจารย์ผู้มีชื่อหากผู้ใดสำเร็จวิชานี้จะมีสะดือแดงเปล่งปลั่งดั่งทองแดง ผู้คนมักเรียกสะดือทองแดง

                 เมื่อเริ่มต้นนายทองอยู่นกเล็กได้เข้าร่วมกับบรรดาเจ้าเมืองในภูมิภาคนี้หลายเมืองและด้วยคงกระพันชาตรีมีสะดือทองแดงดังกล่าวมาจึงประกอบวีรกรรมอย่างห้าวหาญเป็นที่นับหน้าถือตาในภูมิภาคนี้ ภายหลังเมื่อรวบรวมผู้คนได้มากขึ้นก็แยกย้ายจากบรรดาหัวเมืองกลับไปตั้งชุมนุมที่บางปลาสร้อยบ้านเกิดและในช่วงที่อยุธยามีศึกสงครามกับพม่าในครั้งนี้ นายทองอยู่นกเล็กและพรรคพวกได้ถือโอกาสปล้นสะดมบรรดาพ่อค้าวานิชที่ผ่านมาตลอดจนสำเภาการค้าทั้งปวงที่ค้าขายผ่านไปมาก็ถูกนายทองอยู่นกเล็กและคณะปล้นอยู่ตลอดจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่วแต่นายทองอยู่นกเล็กมีเพื่อนร่วมสาบานที่จบจากสำนักอาจารย์เดียวกันเคยร่วมประกอบวีรกรรมมาด้วยกันเมื่อนายทองอยู่กลับไปบ้านเกิดที่บางปลาสร้อยเพื่อนรักของนายทองอยู่ได้กลับมาตั้งหลักที่“บ้านไข้”*บ้านเกิดของเขาเช่นกัน

                     และด้วยมีฝีมือเก่งกล้าจึงมีผู้คนเข้าเป็นสมัครพรรคพวกมีลูกศิษย์ลูกหามากพอสมควรแม้นับว่าไม่ใหญ่เท่านายทองอยู่นกเล็กแต่ก็สมัครสมานรักใคร่มั่นคงกว่าด้วยประกอบแต่สัมมาชีพไม่เบียดเบียนใครๆ นักรบท่านนั้นคือ'นายชื่น บ้านไข้'นายชุมนุมใหญ่ที่สุดของชายขอบแขวงเมืองระยอง โดยมีมีขุมกำลังตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองระยองชั่วเดินไม่เกินครึ่งวันถึงจึงเป็นจุดมุ่งหมายในอันดับต้นๆที่”พระยาตาก”ตั้งใจชักชวนมาร่วมกันสู้รบกับพม่าและทุกครั้งเมื่อมีเวลาก็จะร่วมเสวนากับนายชื่นร่วมกับนายบุญรอดแขนอ่อนและนายหมวดตลอดจนนายบุญมาน้องเมียเจ้าเมืองจันทบุรีที่“บ้านไข้”ฐานที่มั่นของนายชื่นมิได้ขาดจนสมัครสมานสามัคคีกันดีทั้งหมดและ”พระยาตาก”ก็เริ่มมีผู้เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆจนนับเป็นชุมนุนที่กล้าแข็งชุมนุมหนึ่งอย่างเงียบๆ

                    แต่การรวมกลุ่มกันนั้นก็ยังเป็นไปในลักษณะที่ยังไม่เหนียวแน่นนัก ด้วยกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า การดำเนินการใดๆจึงไม่เปิดโอกาสให้ทำได้ตามใจปรารถนาแม้ว่า”พระยาตาก”จะมั่นใจเป็นอย่างสูงว่ากรุงศรีอยุธยาจะช้าเร็วก็คงไม่พ้นฝีมือพม่าแต่“พระยาตาก”ก็ไม่กล้าผลีผลามเหมือนเมื่อยกออกมาเพราะเข้าใจผิดว่าพม่าเผาเมือง“พระยาตาก”จึงวางแผนอยู่เงียบๆกับพระ“มหาชื่น”เท่านั้น และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง วันที่ผู้รั้งเมืองบางละมุงนำทหาร๒๐นายมาขอพบที่เมืองระยอง...วันนั้นจึงเป็นวันที่พยัคฆ์ร้ายออกจากที่ซุ่มซ่อน..เพื่อสำแดงเดช.ตามมาดูเถอะว่าพยัคฆ์ร้ายดำเนินการอะไรบ้างอย่างรวดเร็ว

*บ้านไข้(บ้านค่าย)จากการสำรวจครั้งล่าสุดข้าพเจ้าได้ดำเนินการจนยืนยันได้ว่า เดิมเป็นเมืองเก่ามากน่าจะสมัยทราวดี ตามหลักฐานใบลานของหลวงพ่อวงศ์(เกิดประมาณ พ.ศ.๒๔๐๐)ระบุว่าเมื่อครั้งเป็นสามเณรอายุ๑๐-๑๑ขวบได้สอบถามปู่ย่าตายายที่อายุ๗-๘๐ปี บอกว่าเป็นเมืองหน้าด่านของทราวดีมีเจ้าเมืองท่านสุดท้ายเป็น'ผู้หญิง'เช่นเดียวกับหริภูญชัย เมื่อร้างไป(ห่าลง.จึงเรียก บ้านเมืองคนเป็นไข้ตาย ต่อมาหดสั้นเหลือ บ้านไข้.ตามลักษณะการพูดของภูมิภาคนี้ที่ พูดสั้นๆห้วนๆ .ผู้เขียน)ชาวบ้านศรัทธาสร้างศาล'เจ้าแม่หลักเมือง'ไว้เป็นเครื่องแสดงความเคารพ ปัจจุบันอยู่ก่อนถึงวัดบ้านค่ายของหลวงพ่อวงศ์เล็กน้อย ข้าพเจ้าได้ไปสำรวจพบรูปปั้นของท่่านอยู่ด้านหลังองค์หลักเมือง(หลักเมืองบังอยู่)ที่ศาลเดียวกัน เป็นรูปปั้นเก่าแก่ที่ผู้คนที่อายุร่วม๑๐๐ปีในปัจจุบันได้ยืนยันว่าเห็นมาตั้งแต่เกิดผู้เฒ่าผู้แก่ของท่านก็เห็นมาแต่เกิดทั้งนั้น(รูปปั้นเก่างดงามมาก.ผู้เขียน)ศาล'เจ้าแม่หลักเมือง'ได้สร้างใหม่เป็นครั้งที่.๓.แล้ว..

               ส่วนที่ตั้งเมืองในอดีตที่หลวงพ่อวงศ์กล่าวถึงนั้นครอบคลุมมาถึงบริเวณนี้แต่แนวกำแพงใหญ่นั้นอยู่ถัดวัดบ้านค่ายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ(ปัจจุบันคือศาลพระเจ้าตาก)เป็นแนวกำแพงดินที่ใหญ่มาก ผู้คนที่แก่เฒ่าต่ำสุดก็รุ่นตาทุ้ยที่อาศัยอยู่แถวนั้นเล่าให้ฟังว่าเมื่ออายุได้๑๐-๑๑ปียังทำนาอยู่(ปัจจุบันก็ทำ)เวลาไถนาถ้าอยู่คนละฝั่งกำแพง ซากกำแพงที่เหลือขณะนั้นสูงขนาดมองกันไม่เห็นแต่ด้วยเป็นกำแพงดินล้วนๆเวลาหว่านไถก็จะไถออกไปทีละน้อยจนแทบไม่เห็นร่องลอยหลงเหลือขนาดความกว้างของกำแพงดินที่ถล่มขณะนั้นกว้างประมาณได้กว่า๑๐เมตร หน้ากำแพงเป็นแนวคลองขุดให้เห็นตลอดแนวแนวกำแพงยาวโค้งไปนับจากศาลเจ้าตากไปตลอดจะเลยที่ทำการ อบต.บ้านค่าย ในปัจจุบันเสียอีกแนวกำแพงมิได้มีเพียงเท่านี้ข้าพเจ้าสำรวจยังมีแนวกำแพงชั้นในที่เตี้ยและเล็กกว่าต่อมาชาวบ้านได้ปรับทำถนนโดยไม่ต้องถม แนวแรกคือถนนที่ขนานกับศาลเจ้าตาก(ตกไปออก)ก็เป็นถนนที่ปรับจากแนวเนินดินนั้นสำรวจต่อมาจะพบแนวต่างๆถูกปรับทำถนนดูแล้วเป็นเส้นขนานบ้างสี่เหลี่ยมตัดบ้าง เป็นระเบียบพอควรแนวถนนที่อยู่ระหว่าง'ศาลเจ้าแม่หลักเมือง'กับ'ศาลเจ้าตาก'เคยมีการปรับขยายถนนได้พบศิลาแลงและพระพุทธรูปทรายแดงหลายรูปบนเนินนั้น ชาวบ้านได้ย้ายมาไว้ที่วัดบ้านค่ายของหลวงพ่อวงศ์แต่ไม่มีใครกล้าดำเนินการใดๆต่อ แม้แต้พระพุทธรูปและศิลาแลงก็ถูกทิ้งไว้แบบไม่นำพา


ตอนต่อไป กำเนิดชุมนุมเจ้าตากจบบริบูรณ์


                                                                     [ก่อนหน้า][ตอนต่อไป]