หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ประเทศจีนที่สำคัญนั้นมีสองประเภทคือ
๑.สุสานบรรจุฉลองพระองค์
๒.พระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิง(สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง)
โดยจะขออธิบายตามลำดับดังนี้
สุสานบรรจุฉลองพระองค์
เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เมืองจีนที่ระบุว่าบิดาของพระองค์เป็นชาวจีน อยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ มณฑลกวางตุ้ง
ซุ้มประตูขนาดใหญ่บริเวณทางเข้าในปัจจุบัน
ตามเอกสารแจกจ่ายประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลท้องถิ่นบรรยายไว้สรุปได้ว่า
'...สุสานบรรจุฉลองพระองค์นี้ตั้งอยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ มณฑลกวางตุ้ง บริเวณแหล่งดูดทรายแห่งหนึ่งในอำเภอเถ่งไฮ่ มีฮวงซุ้ยหรือสุสานเล็กๆ แห่งหนึ่ง ทางเข้าทำเป็นซุ้มขนาดใหญ่ สุสานแห่งนี้เป็นสุสานเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ (พ.ศ. ๒๒๗๘-๒๓๓๙) มีป้ายหินจารึกไว้ว่าสุสานของ‘แต้อ๊วง’ทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. ๑๙๘๕(พ.ศ.๒๕๒๘...(*๑)”
“...คนเถ่งไฮ่รู้จักและรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตากดี เขาเรียกกันว่า‘แต้อ๊วง’ แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินตระกูลแต้ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อ‘แต้อ๊วง’ เกิดพ่อของท่านก็พาท่านกลับมาเรียนภาษาที่เมืองจีน จนอายุได้ ๑๐ ขวบจึงส่งมาอยู่เมืองไทย...(*๒)”
“...คนเถ่งไฮ่ภูมิใจใน‘แต้อ๊วง’มาก ว่าเป็นคนบ้านเราที่มีวาสนาเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทย และมีความกล้าหาญยิ่ง เสี่ยงชีวิตไปรบกับพม่าเพื่อกอบกู้ชาติไทย...(*๓)”
'...คนเถ่งไฮ่เชื่อกันว่าหลังจากที่พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ได้ไม่นานบรรดาญาติพี่น้องได้นำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิดและฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ...(*๔)'

สุสานในปัจจุบัน
บริเวณสุสานยังมีป้ายหินอีกแผ่นจารึกไว้ว่า'สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังฉลองพระองค์ของ‘แต้อ๊วง’ ที่นำมาจากเมืองไทย ห้ามผู้ใดทำลายเด็ดขาด'ลงชื่อโดยรัฐบาลท้องถิ่นแห่งอำเภอเถ่งไฮ่
หากเราจะสรุปถึงเนื้อหาของเอกสารนี้จะได้ใจความโดยรวมว่า บิดาของ‘แต้อ๊วง’(สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)เป็นคนเถ่งไฮ่ ได้อพยพไปอยู่กรุงศรีอยุธยา เมื่อ‘แต้อ๊วง’เกิดบิดาท่านก็พาท่านกลับมาเรียนภาษาที่เมืองจีนจนอายุ๑๐ ขวบจึงส่งมาอยู่เมืองไทย‘แต้อ๊วง’มีความกล้าหาญยิ่ง เสี่ยงชีวิตไปรบกับพม่าเพื่อกอบกู้ชาติไทยและมีวาสนาเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทยหลังจากที่‘แต้อ๊วง’สิ้นพระชนม์ได้ไม่นานบรรดาญาติพี่น้องได้นำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิดและฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้ ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ (พ.ศ. ๒๒๗๘-๒๓๓๙)ซึ่งสอดรับกันดีในเรื่องวันเวลา
แต่ความจริงคือมีศิลาจารึกแผ่นเล็กๆซึ่งประดิษฐานข้างประตูศาลเจ้าได้จารึกว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นในปีที่๑๑แห่งศักราชสาธารณรัฐจีน(เริ่มนับพ.ศ.๒๔๕๔เป็นปีที่๑.)จึงตรงกับพ.ศ.๒๔๖๕ หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชสวรรคตไปแล้ว๑๔๐ปี
อีกทั้งข้อมูลและเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับสุสานนี้ล้วนอ้างแต่'คำบอกเล่า'เช่นเล่าว่าแรกเกิดบิดาพากลับมาเรียนภาษาจีนที่บ้านเกิดหรือเล่าว่าหลังจากที่พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ได้ไม่นานบรรดาญาติพี่น้องได้นำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิดและฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้(ตอนเป็นพระเจ้าแผ่นดินกลับไม่นำไป) ซึ่งเป็นคำบอกเล่าตามตำนานโดยอ้าง'พระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิงในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง'เป็นเอกสารอ้างอิงนอกนั้นไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานอื่นปรากฏให้เห็นเลยจนถึงปัจจุบัน
เมื่อตำนานของสุสานบรรจุฉลองพระองค์ที่เมือง เถ่งไฮ้ อ้างว่าสร้างในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง' จึงต้องขออนุญาตอธิบายเกี่ยวกับพระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิง(จักรพรรดิเฉียนหลง)ที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีดังต่อไปนี้
เริ่มในปี พ.ศ.๒๓๑๐ขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังจะเสียแก่พม่านั้น ทัพเมืองจีนของจักรพรรดิเฉียนหลงก็ไม่สามารถเอาชนะทัพพม่าของพระเจ้ามังระได้ ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงต้องประชุมขุนนางแก้ปัญหานี้อยู่เนืองๆ จนเมื่อถึงเดือน๔ แห่งปีที่๓๒(พ.ศ. ๒๓๑๐)ของรัชกาลเฉียนหลง(กรุงศรีอยุธยาแตกเดือน๕)หยางอิ้งจี้ ข้าหลวงประจำมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ได้กราบบังคมทูลจักรพรรดิเฉียนหลงว่า'...ราชสำนักชิงกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์อันดีกันตลอดมา หากจักรพรรดิเฉียนหลงร่วมมือกับสยามตีกระหนาบพม่าการศึกก็จะสำเร็จโดยง่าย...(*๕)' แต่จักรพรรดิเฉียนหลงไม่เห็นชอบพระองค์เห็นว่า“..การที่จะนัดหมายกับสยามตีกระหนาบพม่านั้นจะเป็นเรื่องไร้สาระน่าขบขัน การทำสงครามโดยอาศัยกำลังจากประเทศราชนอกจากจะไร้ประโยชน์แล้วยังรังแต่จะทำให้ดินแดนในอาณัติเกิดความดูแคลนจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำเป็นอันขาด...(*๖)”แต่อย่างไรก็ดีจักรพรรดิเฉียนหลง ยังรบติดพันอยู่กับพม่าจึงรับสั่งให้ข้าหลวงประจำมณฑลกวางตุ้งและกว่างซี ชื่อหลี่ซื่อเหยาให้ติดตามสืบเสาะเรื่องราวภายในอาณาจักรสยามอย่างใกล้ชิดแล้วให้รายงานราชสำนักทางปักกิ่งให้ทราบโดยละเอียด
เมื่อถึงเดือนเก้าของปีที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐) แห่งรัชกาลเฉียนหลง หลี่ซื่อเหยาได้ข่าวว่าสยามถูก'เผ่าท้องลาย'(หมายถึงพม่า)ตีเมืองแตก กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยานั้นหายสาบสูญไป เพื่อให้ได้ความจริงทั้งหมดมารายงานจักรพรรดิเฉียนหลง '...หลี่ซื่อเหยาจึงได้มอบหมายให้นายทหารตำแหน่งอิ๋วจี๋ (เทียบเท่าผู้บังคับกองพัน)ชื่อสี่หยวนโดยสารเรือพาณิชย์ไปสยามเพื่อสืบเสาะว่าเท็จจริงว่าเป็นประการใดแต่สี่หยวนกลับเสียชีวิตที่เมืองนครศรีธรรมราชเหลือแต่นายทหารติดตามชื่อม่ายเซินที่ได้เดินทางกลับถึงเมืองกวางโจวเมื่อวันที่๑๑เดือน๗ปีที่๓๓(พ.ศ. ๒๓๑๑) แห่งรัชสมัยเฉียนหลง ขณะเดินทางกลับม่ายเซินได้แวะเมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ)ซึ่งมีม่อซื่อหลิน( พระยาราชาเศรษฐี)เป็นเจ้าเมือง...(๗*)' สำหรับม่อซื่อหลินผู้นี้โดยปกติเป็นที่คุ้นเคยกันดีกับหลี่ซื่อเหยาข้าหลวงประจำมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีขณะที่ม่ายเซินแวะเมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ)เจ้าจุ้ยบุตรเจ้าฟ้าอภัยได้มาอาศัยอยู่กับม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)กำลังสมคบกันคิดการใหญ่อยู่
ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ทราบข่าวจากม่ายเซินว่าจักรพรรดิเฉียนหลงสั่งให้สืบเสาะเรื่องราวภายในอาณาจักรสยามอย่างละเอียด ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)จึงได้ส่งอำมาตย์ชื่อหลินอี้และม่อหยวนเกามาพร้อมกับม่ายเซินทั้งนี้ได้นำแผนที่ของสยามมาด้วยเพื่อรายงานทุกๆสิ่งของสยามให้หลี่ซื่อเหยาทราบโดยม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)คิดฉวยโอกาสที่สยามมีความยุ่งยากเดือดร้อนหวังเข้ามาชิงความเป็นใหญ่ในสยามโดยการสนับสนุนให้เจ้าจุ้ยเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองเพราะม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)เข้าใจความคิดของราชสำนักชิงที่ยึดมั่นในทำนองคลองธรรมของการสืบทอดราชบัลลังก์จึงต้องการให้รัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นกษัตริย์สืบต่อกันไป จึงใช้กุศโลบายแสดงตนเป็นผู้สนับสนุนเจ้าจุ้ยให้สืบทอดสันติวงศ์ เพื่อทำให้ราชสำนักชิงวางใจตน
ในขณะเดียวกันก็ใส่ความสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเหตุให้ราชสำนักชิงในช่วงแรกไม่ยอมรับรองกรุงธนบุรีและเหินห่างกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพราะได้ยึดถือข้อมูลของหลี่ซื่อเหยาซึ่งได้สอบถามเรื่องราวต่างๆของสยามอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)แล้ว ทำการวิเคราะห์วิจัยประมวลเรื่องราวเป็นเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ สถานการณ์ของสยาม นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายราชสำนัก ณ กรุงปักกิ่ง ราชสำนักชิงจึงได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสยามโดยยึดถือตามข้อมูลของหลี่ซื่อเหยาที่ได้ข้อมูลมาจากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)อีกต่อหนึ่ง
ต่อมาเมื่อเดือน๑๐ ของปีที่ ๓๓(พ.ศ.๒๓๑๑)จักรพรรดิเฉียนหลงทรงมีความประสงค์จะรบกับพม่าอย่างแตกหักและ ต้องการให้สยามสกัดจับทหารพม่าที่แตกทัพหนีมาทางนั้นแต่ความจริงคือต้องการให้ไทยช่วยตีกระหนาบเพราะจีนไม่เคยรบชนะพม่าจึงต้องการให้ไทยช่วยแต่ได้ใช้ถ้อยคำที่คงศักดิ์ศรีไว้(เฉียนหลงไม่เคยชนะพระเจ้ามังระจึงไม่มีทหารพม่าหลบหนีมาทางไทย)จักรพรรดิเฉินหลงจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้หลี่ซื่อเหยา “...ให้คัดเลือกนายทหารข้าราชบริพารที่ปรีชาสามารถและซื่อสัตย์เดินทางไปเหอเซียน(พุทไธมาศ)โดยด่วน เพื่อสอบถามม่อซื่อหลินถึงสภาพการณ์ที่แท้จริงระยะนี้ของเสียนหลอ(สยาม)ขอให้เขาตอบมาอย่างละเอียดด้วย...(๘*)'
โดยทรงกำชับให้ดำเนินการโดยด่วนแล้วกราบบังคมทูลเพื่อทราบ เมื่อหลี่ซื่อเหยาได้รับพระบรมราชโองการแล้ว ก็สั่งให้ทหารอาศัยเรือพาณิชย์แล่นไปยังเหอเซียน(พุทไธมาศ)เพื่อสอบถามข้อมูลจากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)แต่ล่วงมาเพียงเดือนเศษจักรพรรดิเฉียนหลงก็ทรงติดตามสอบถามถึงข่าวคราวของบุคคลที่สั่งให้เดินทางไปสืบหาข่าวหลี่ซื่อเหยากราบบังคมทูลตอบว่า“...จากทางตะวันออกของกวางตุ้งเดินทางไป ณ ที่นั่น เป็นย่านทะเลนอกเขตแคว้นจำต้องคอยถึงลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ในเดือน๓ ปีหน้า เรือจึงจะสามารถแล่นกลับมาได้ ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนในการทราบข่าวคราว...(๙*)”
ครั้นล่วงมาถึงเดือน๖ ของปีถัดมา ล่วงเลยเวลาที่เรือต้องกลับตามที่หลี่ซื่อเหยากล่าวไว้เป็นเวลาหลายเดือน ก็ยังไม่มีข่าวคราวจากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)แต่อย่างใด ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงทรงตำหนิหลี่ซื่อเหยาอย่างรุนแรงถึงขนาดมีรับสั่งให้หลี่ซื่อเหยา“ต้องปรับปรุงแก้ไขการทำงาน”จนถึงปลายเดือน๖นั้นขุนนางของม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ก็เดินทางมาโดยเรือถึงกว่างโจวเมื่อวันที่๒๗ เดือน๖ปี๓๔(พ.ศ. ๒๓๑๒)เพื่อแจ้งสภาพการณ์ที่แท้จริงระยะนี้ของเสียนหลอ(สยาม) แก่หลี่ซื่อเหยาๆจึงนำความที่ได้รับรายงานกราบบังคมทูลจักรพรรดิเฉียนหลง(ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบพม่าพระนายกองได้แล้วตั้งตนเป็นใหญ่ที่ธนบุรีแต่ยังไม่ได้ปราบชุมนุมต่างๆที่เหลืออยู่)
จักรพรรดิเฉียนหลงจึงเริ่มวางแผนตีพม่าในเดือนถัดไปคือเดือน๗ ปี๓๔(พ.ศ. ๒๓๑๒)พร้อมทั้งมีความต้องการให้สยามช่วยสกัดจับทหารพม่าที่แตกทัพหนีมาทางสยาม สภาองคมนตรีแห่งราชวงศ์ชิงได้แต่งหนังสือฉบับหนึ่งและสั่งให้หลี่ซื่อเหยาประทับตราเพื่อถวายกษัตริย์สยามโดยกำชับว่า“...หากสืบทราบแน่ชัดว่า ทายาทของตระกูลเจา(หมายถึงรัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา)ได้รับการสถาปนาสืบทอดราชสมบัติขึ้นมาใหม่ ก็ให้นำส่งทางเรือเดินทะเลโดยด่วน ซึ่งจะอยู่ในช่วงที่ทางมณฑลยูนานเริ่มเดินทัพเข้าโจมตี(พม่า)แต่หากปรากฏว่าพวกกันเอินซื่อ(หมายถึงหัวหน้าเผ่าที่ตั้งตนเป็นใหญ่ไม่ยกย่องทายาทของกษัตริย์เดิม ซึ่งขณะนั้นคือพระเจ้ากรุงธนบุรี)ยังคงแอบอ้างตั้งตนยึดครองซึ่งเป็นความกระหายอันไม่ชอบธรรมแสดงว่าอาณาจักรนั้นยังปราศจากผู้มีอำนาจปกครองโดยชอบธรรม ก็ไม่ต้องส่งมอบให้และนำให้กลับคืนสู่มาตุภูมิ...(๑๐*)'
เมื่อหลีซื่อเหยาได้รับหนังสือที่สภาองคมนตรียกร่างให้เพื่อส่งให้สยามแล้วได้พิจารณาเห็นว่าถึงแม้ว่าทายาทตระกูลเจา(หมายถึงรัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา)ยังมิได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ แต่ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี) ขณะนี้ได้นัดหมายกับหัวหน้าเผ่าชนเมืองต่างๆ แถบชายฝั่งทะเลของเสียนหลอ(สยาม)เตรียมใช้กำลังโจมตีกันเอินซื่อ(หมายถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)เพื่อยกเจ้าจุ้ยทายาทของกษัตริย์อยุธยาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หากดำเนินการสำเร็จก็จะขอให้ช่วยสกัดจับโจรพม่าม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ก็คงจะดำเนินการให้อย่างดีหรือหากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ยังไม่พร้อมก็ให้เป็นธุระจัดส่งหนังสือต่อไปกรุงศรีอยุธยาให้แล้วเสร็จ ในการนี้หลี่ซื่อเหยาได้ทำหนังสือในนามของตนเองขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง มอบหมายให้ขุนนางตำแหน่งจั่วอี้เจิ้น(เทียบเท่าผู้บังคับการกองพลพัฒนา)ชื่อ ไช่ฮั่นโดยสารเรือพาณิชย์นำหนังสือดังกล่าวไป ณ เมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ)
ไช่ฮั่นได้รับคำสั่งให้เดินทางตั้งแต่เดือน๗ของปีที่ ๓๔(พ.ศ. ๒๓๑๒) แห่งรัชกาลเฉียนหลง แต่เดินทางถึงเหอเซียน(พุทไธมาศ)ในวันที่๒๙ เดือนอ้ายของปีถัดไปใช้เวลาเดินทางถึงครึ่งปีไช่ฮั่นอ้างว่า'...เมื่ออยู่กลางทะเลถูกลมพัดเสากระโดงขาด หางเสือเรือหักจึงเสียเวลาการเดินทาง...(๑๑*)'ต่อมาภายหลังหลี่ซื่อเหยาได้เรียกบรรดาลูกเรือและทหารติดตามมาสอบสวนเป็นความลับ ปรากฏว่าลูกเรือและทหารติดตามได้เบิกความถึงไช่ฮั่นว่า“...มีความหวาดกลัวการท่องทะเลเริ่มตั้งแต่วันที่ออกเดินทางจากกวางตุ้งก็อ้างว่า เกิดลมพายุซึ่งเป็นเท็จเพื่อหาเหตุพัก หลังจากนั้นก็แวะจอดพักตลอดทางแม้กระทั่งขึ้นฝั่งพักแรมชั่วคราวก็มี จึงทำให้เสียเวลา...(๑๒*)'ไช่ฮั่นจึงต้องโทษจำคุก
ด้านเมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ)เมื่อไช่ฮั่นส่งมอบสาสน์ของราชสำนักชิงให้แก่ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ๆเห็นว่าต้องนำเรื่องนี้แจ้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงจะสามารถบรรลุถึงภารกิจในการสกัดจับกุมโจรพม่าแต่เนื่องจากตนเองกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีเรื่องบาดหมางกันเกรงว่าพระองค์จะไม่เชื่อจึงขอให้ไช่ฮั่นมีหนังสือประกอบไปด้วยตนเองรับภาระในการร่างหนังสือให้เมื่อไช่ฮั่นเห็นชอบแล้วก็จัดส่งไป เอกสารนี้จึงเป็นเอกสารราชการฉบับแรกที่มีถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในนามของราชสำนักชิง
ในเรื่องนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชสาสน์ตอบกลับว่ายินดีช่วย เหลือ โดยที่พระราชสาสน์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เดินทางไปถึงเมืองจีนในเดือน๘ พ.ศ.๒๓๑๓(ปีที่ ๓๕ แห่งรัชกาลเฉียนหลง)
ต่อมาเมื่อเดือน๘พ.ศ. ๒๓๑๔(ปีที่๓๖แห่งรัชกาลเฉียนหลง)สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ปฏิบัติตามคำขอโดยการนำส่งเชลยศึกพม่าซึ่งมีชื่อว่า เซี่ยตูเอี้ยนและบุคคลอื่น ๆ ถึงกรุงปักกิ่งและได้ส่งมอบตามคำขอนี้ต่อมาอีกหลายครั้งคือ
พ.ศ. ๒๓๑๕ได้จัดส่งจังจุ่นชิงกับพวก ซึ่งเป็นชาวอำเภอไฮ่เฟิง มณฑลกวางตุ้ง กลับคืนภูมิลำเนา
พ.ศ.๒๓๑๘ ได้จัดส่งเจ้าเฉิงจังกับพวกจำนวน ๑๙ คน ซึ่งเป็นทหารยูนนานที่ตกเป็นเชลยศึกพม่า
พ.ศ.๒๓๑๙ ได้จัดส่งหยางเฉาพิ่งกับพวก จำนวน ๓ คน ซึ่งเป็นพ่อค้ายูนนานกลับคืนภูมิลำเนา
พ.ศ. ๒๓๒๐ คุมตัวอ่ายเฮอกับพวกจำนวน ๖ คน ซึ่งเป็นเชลยพม่านำส่งถึงกวางตุ้ง
การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งมอบเชลยให้แก่จักรพรรดิเฉียนหลงเมื่อเดือน๘พ.ศ. ๒๓๑๔(ปีที่๓๖แห่งรัชกาลเฉียนหลง) ครั้งนั้นพระเจ้าเฉียนหลงเมื่อได้รับมอบเชลยก็ได้กำชับหลี่ซื่ิอเหยาให้พิจารณาความชอบต่ออาณาจักรสยามดังนี้ว่า'... อย่าได้เฉยเมยเย็นชาเสียทุกกรณี อันจะเป็นการตัดเยื้อใยอย่างสิ้นเชิงกันเลย จึงสมควรใช้ดุลยพินิจในนามของข้าหลวงนั้นเองให้รางวัลเป็นแพรต่วนตามสมควร...(๑๓*)'ต่อมาเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน๑๑ ขึ้น๙ ค่ำ ปีเถาะตรีศก จ.ศ. ๑๑๓๓( พ.ศ. ๒๓๑๔)หลังจากส่งมอบเชลยชุดแรกได้สามเดือน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ยกทัพไปตีกัมพูชาและพุทธไธมาศ
เมื่อพระเจ้าเฉียนหลงทราบข่าวความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับม่อซื่อหลิน จึงมีกระแสรับสั่งว่า'...อันสยามตั้งอยู่ ณ ทะเลอันไกลโพ้น มีระยะทางห่างไกลย่อมจะยากลำบากต่อการใช้กำลัง เมื่อ'กันเอินซื่อ'(พระเจ้ากรุงธนบุรี )ใช้พลังอันดุดัน(ความสามารถในการรบ-ผู้เขียน)เข้าช่วงชิงราชบัลลังก์และเกิดการรบพุ่งแย่งชิงกัน ก็สมควรที่จะถือว่าเป็นเรื่องของนอกแคว้น ถ้าหากว่า'ม่อซื่อหลิน'ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ) มีความประสงค์จะช่วยฟื้นฟูราชบัลลังก์ ก็ชอบที่จะปล่อยให้กระทำการตามกำลังความสามารถตามลำพัง โดยไม่จำเป็นที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วยเลย...(๑๔*)' ทำให้การรบระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)เจ้าเมืองพุทไธมาศ จักรพรรดิเฉียนหลงมิได้ส่งทหารมาช่วยเหลือพระยาราชาเศรษฐีและเมืองพุทไธมาศแต่อย่างใด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงสามารถยึดเมืองพุทธไธมาศได้โดยไม่ยากเย็น
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีชัยชนะต่อม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)เจ้าเมืองพุทไธมาศแล้วภายหลังเมื่อม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)เจ้าเมืองพุทไธมาศกลับเข้ามาสวามิภักดิ์ก็โปรดให้ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ครองเมืองเมืองพุทไธมาศต่อไป นับแต่นั้นข่าวจากเสียนหลอ(สยาม)ก็ไม่มีไปถึงหลี่ซื่อเหยาอีก และราชอาณาจักรจีนก็ได้มีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างใกล้ชิดขึ้น โดยพ.ศ. ๒๓๑๕ได้ปฏิบัติตามคำขอของจักรพรรดิเฉียนหลงเป็นครั้งที่สองโดยได้จัดส่ง'จังจุ่นชิง'กับพวก ซึ่งเป็นชาวอำเภอไฮ่เฟิง มณฑลกวางตุ้ง กลับคืนภูมิลำเนา
การแสดงไมตรีครั้งที่สองนี้ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงได้เห็นถึงความจริงใจของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีกระแสรับสั่งแก่หลี่ซื่อเหยาว่า'...ภายหน้าหากทางไม่มีผู้ใดมาอีกก็แล้วไปแต่ถ้าหากกันเอินซื่อส่งทูตมาอีกเพื่อขอพระราชทานแต่งตั้งและประสงค์จะมีสัมพันธภาพทางราชบรรณาการ ก็อย่าได้ยืนกรานปฏิเสธเช่นกาลก่อนให้พิจารณาถึงว่าหากเป็นความจริงที่มาอย่างจริงใจ ก็ให้กราบบังคมทูลเพื่อจะได้พระราชทานแต่งตั้ง...(๑๕*)'
นับแต่นั้นคือตั้งแต่เดือน ๘ ของปีที่ ๓๗ แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๑๕) เป็นต้นมา ในเอกสารราชการของราชสำนักชิงได้เปลี่ยนการกล่าวอ้างพระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จากกันเอินซื่อหรือ“หัวหน้าเผ่าชนอาณาจักรสยาม” เป็น“เจิ้งเจา” ซึ่งหมายถึง “กษัตริย์เจิ้ง”หรือ“แต้อ๊วง”นั่นเอง
ซึ่งจะเห็นได้ว่าก่อนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะปฏิบัติตามคำขอโดยการนำส่งเชลยศึกพม่าครั้งแรกและครั้งที่สองนั้นราชสำนักจีนเรียกขานพระองค์ว่ากันเอินซื่อแต่หลังจากส่งมอบเชลยสองครั้งแล้ว ราชสำนักจีนถึงได้ยอมรับสถานะกษัตริย์ของพระองค์และได้เรียกขานพระองค์ว่า'เจิ้งเจา'นับแต่นั้นจนสิ้นรัชกาล ส่วนราชทินนามที่พระองค์ใช้ติดต่อกับจีนนั้นพระองค์ใช้พระนามว่า'สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา'ตั้งแต่ฉบับแรกจนฉบับสุดท้ายไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเลย
.gif)
[ดูภาพขยายพระราชทินนาม กด]
แต่พระราชประวัติในเรื่องชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชนั้นไม่มีปรากฏในพงศาวดารจีนตลอดรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงแต่อย่างใดทั้งสิ้น สรุปว่าในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงอันเป็นพระเจ้าแผ่นดินร่วมสมัยกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ไม่มีเอกสารใดระบุว่า'พระบิดาเป็นชาวจีน'ปรากฏให้เห็นเลย
[ก่อนหน้า][หน้าต่อไป]
อ้างอิง
(๑)เอกสารประชาสัมพันธ์ของสุสานที่แจกจ่ายแก่นักท่องเที่ยว
(๒)เรื่องเดียวกันอ้างแล้ว
(๓)พลิกต้นตระกูลไทย ของต้วน ลี เซิง สำนักพิมพ์พิราบ พิมพ์ครั้งที่๒ พ.ศ.๒๕๒๑
(๔)-(๑๔)เรื่องเดียวกันอ้างแล้ว
|