ข้อสรุปจากเมืองจีน
สรุปเอกสาร-หลักฐานจากประเทศจีน
หลักฐานเรื่องพระราชประวัติส่วนพระองค์นั้นมีปรากฏเพียงหลักฐานเดียวคือปรากฏในร่างพระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิงหัวข้อประวัติเสียนหลอ(สยาม)ที่ต้วน ลีเซิง อ้างถึงในหนังสือ'พลิกต้นตระกูลไทย' กล่าวสรุปถึงเหตุการณ์เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯให้จัดส่งคณะทูตบรรณาการเดินทางไปเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักจีนในปีพ.ศ.๒๓๒๔“...เมื่อครั้งอาอิ๋วถีเอีย(อยุธยา)กรุงแตกเจิ้งเจา(สมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรี)ซึ่งเป็นขุนนางเสียนหลออยู่ในระหว่างยกทัพไปรบกับกัมพูชาครั้นเมื่อทราบข่าวกรุงแตกก็นำทัพกลับและทำการรบกับพม่าหลายครั้งหลายคราวรวมเวลาทำสงครามอยู่หลายปีแต่เมื่อพม่าต้องรบกับจีนเจิ้งเจาจึงถือโอกาสที่พม่าอ่อนกำลังเข้าตีจนพม่าแตกพ่ายไปและกู้ชาติได้สำเร็จ เจา(เจิ้งเจา)เป็นชาวจีนกวางตุ้งบิดาทำการค้าขายที่เสียนหลอให้กำเนิดเจา(เจิ้งเจา)ครั้นเมื่อเติบใหญ่ปรากฏว่าเป็นผู้มีความเก่งกาจสามารถจึงได้เข้ารับราชการที่เสียนหลอเมื่อตีทัพพม่าแตกแล้ว ชาวเมืองจึงเห็นพร้อมกันอัญเชิญให้เป็นกษัตริย์ย้ายเมืองหลวงไปตั้งผันกู่(บางกอก)ได้ปราบปรามข้าศึกและให้ความร่มเย็นแก่ราษฎรในการปกครองอาณาจักรจึงมีความมั่นคงเป็นลำดับ เมื่อปีที่ ๔๖(หมายถึงปีที่๔๖ แห่งรัชกาลเฉียนหลงซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๔)(*๑)
สำหรับร่างพระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิง ที่กล่าวถึงพระราชประวัติส่วนพระองค์นั้นมิได้ร่างขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงแต่ร่างหลังจากจักรพรรดิเฉียนหลงทิวงคตนานแล้วมีหลายหมวดมาก เป็นการรวมเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ชิงทั้งหมดซึ่งมีจักรพรรดิหลายพระองค์(เฉพาะรัชสมัยของ'คังซี'กับ'เฉียนหลง'๒พระองค์ก็ใช้เวลาครองราชย์รวมกันกว่า๑๐๐ปีแล้ว)และได้เริ่มจัดทำหลังจากเริ่มศักราชสาธารณรัฐจีนคือพ.ศ.๒๔๕๔ โดยที่ในปัจจุบันก็ยังไม่สำเร็จเพราะเอกสารส่วนใหญ่จอมพลเจียงไคเช็คขนไปไว้ที่ไต้หวัน นักวิชาการที่รวบรวมร่างพระราชพงศาวดารชิงคงประมวลเอาจากเอกสารจากประเทศไทยในชั้นหลังๆนี้ มิได้รวบรวมจากเอกสารจีนเพราะเอกสารระหว่างจักรพรรดิเฉียนหลงกับอาณาจักรเสียนหลอตั้งแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๔นั้น ยังจัดเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานพระราชวังแห่งชาติไต้หวันตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ฉนั้นร่างพระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิงฉบับดังกล่าวนี้ก็คงเป็นแค่'ต้นร่าง'ที่ยังไม่มีตรวจทานแก้ไขให้ถูกต้องแต่อย่างใด
ตัวอย่างพระราชสาสน์สุพรรณบัฏและเครื่องภาชนะของพระเจ้ากรุงพระมหาหครศรีอยุธยา-อยู่ที่ไทเป
หลักฐานสำคัญที่ทำให้ทราบได้ทันทีว่าจักรพรรดิเฉียนหลงและเหล่าข้าราชการจีนไม่ทราบพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเลยคือ'พระราชสานส์'ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่มีไปถึงจักรพรรดิเฉียนหลงตั้งแต่ฉบับแรกที่ผลัดเผ่นดินดังนี้
ครั้นเดือน๕ ปีที่๔๗ แห่งรัชศกเฉียนหลง(พ.ศ.๒๓๒๕)พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าให้หลวงอภัยชลทีและขุนภักดีกัลป์ยา อัญเชิญพระราชสาสน์แจ้งข่าวการผลัดแผ่นดินในกรุงสยามไปพระราชทานข้าหลวงมณฑล กวางตุ้งและกวางสีใจความว่า
“...เจิ้งหัว(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)ประมุขแห่งประเทศเสียนหลอขอถวายบังคม ด้วยเหตุที่ได้จัดส่งเรือมารับราชทูตพร้อมกับถวายรายงานเรื่องพระราชบิดาถึงแก่สิ้นพระชนม์แล้ว ข้าพเจ้ารำลึกถึงด้วยความเสียใจว่าเมื่อปีที่แล้วเจิ้งเจา(สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)พระราชบิดาอดีตประมุขของประเทศผู้ทรงล่วงลับไปแล้วได้จัดส่งราชทูตเดินทางโดยทะเลมาถวายเครื่องราชบรรณาการแด่ราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์ ครั้นถึงฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ เรือฟู่กัง(เรือนอกบรรณาการ)เดินทางกลับเสียนหลอโดยมีเจ้าหน้าที่ราชบรรณาการ อันมี(พระยาราชสกุล นายศักดิ์ และนายเวรมหาดเล็ก)พร้อมบุคคลอื่นเป็นผู้นำกลับ
ด้วยบัญชาของท่านทราบว่าเมื่อคณะถวายเครื่องบรรณาการได้ถึงกวางตุ้งแล้วได้รับความกรุณาจากท่านขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายนำขึ้นกราบบังคมทูลและจัดการ จัดส่งคณะทูตพร้อมราชบรรณาการและสิ่งของพื้นเมืองไปยังนครหลวง(ปักกิ่ง)อันทำให้ประเทศเล็กอันไกลโพ้น(หมายถึงเสียนหลอหรือสยาม)ได้รับพระบรมมหากรุณาธิคุณจากโอสรแห่งสวรรค์ ทั้งนี้ก็เนื่องมาแต่ท่านขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายซึ่งเป็นพระคุณอย่างสูง จักต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดและซื่อสัตย์กตัญญูตลอดไป หากแต่ว่าเสียนหลอเป็นประเทศเล็กบุญน้อยถึงคราวเคราะห์ประสบภัยพิบัติถึงแก่สูญเสียพระราชบิดา เมื่อวันเกิงอิ๋น เดือนยี่ ปีที่๔๗ แห่งรัชเฉียงหลง(วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕)
เจา(สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)ได้ประชวรสิ้นพระชนม์ในวาระที่ใกล้จะสิ้นพระชนม์ทรงสั่งเสีย'หัว'(เจิ้งหัว-สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ-ผู้เขียน)ขอให้มีความสุขุมรอบคอบอย่าได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงโบราณราชประเพณีและให้ยึดถือผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นใหญ่ตลอดทั้งให้เคารพนบน้อมและเชื่อฟังราชสำนักแห่งสวรรค์เป็นสำคัญ
หลังจากที่พระราชบิดาสิ้นพระชนม์แล้วและ'หัว'(สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ)ได้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองดินแดนภายใต้การปกครองจึงสงบเรียบร้อยอยู่รอดปลอดภัย ครั้นเมื่อคำนึงถึงโบราณราชประเพณีว่าเสียนหลอเป็นประเทศในอาณัติจึงสมควรจะได้ถวายรายงานถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
บัดนี้ได้จัดให้หลวงอภัย ชลที นำส่งสาสน์ถึงท่าน พร้อมทั้งได้จัดให้นายสมุทรวาณิชนำเรือมารับทูตบรรณาการ(หมายถึงคณะทูตสยามของพระพิชัย)กลับประเทศต่อเมื่อถึงกำหนดวาระการถวายเครื่องราชบรรณาการ”เจิ้งหัว”จักได้เตรียมสิ่งของพื้นเมืองอย่างดีถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีปฏิบัติอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพื่อหวังให้พระราชบิดาผู้ทรงล่วงลับไปแล้วได้รับผลบุญจากพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์จักรพรรดิชั่วกัปชั่วกัลป์อันจะทำให้'เจิ้งหัว'สำนึกในพระพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์จักรพรรดิตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด
จึงกราบเรียนมาเพื่อขอความกรุณาจากท่านจงตกหมูอีทั้งสองท่านกราบเรียนมา เมื่อวัน ซินไฮ่ เดือนห้า ปีที่ ๔๗ แห่งรัชศกเฉียนหลง(วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕)...(*๒)'
ทั้งหมดนี้เป็นพระราชสาสน์ที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีไปถึงจักรพรรดิเฉียนหลง เพื่อคงสถานะทางการฑูตไว้โดยระบุว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช

พระราชสาสน์คำหับพระพุทธยอดฟ้าฉบับภาษาจีนประทับตราโลโต(ตราแห่งกษัตริย์สยามที่จักรพรรดิเฉียนหลงพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช)แผ่นที่๑ แผ่นที่๒

ดูพระราชสาสน์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีไปถึงจักรพรรดิเฉียนหลงขณะยังไม่มีตราโลโตเพื่อเปรียบเทียบ
เมื่อจักรพรรดิเฉียนหลงได้รับรายงานจากข้าหลวงแล้วมีพระราชโองการตอบมาตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุ ชิงสือลู่ รัชกาลจักรพรรดิเกาจงแห่งราชวงศ์ชิง บรรพ ๑๑๖๔ จดหมายบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (เจิ้งหัว) จัดส่งคณะทูตเดินทางมาแจ้งข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (เจิ้งเจา) แก่ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกวางสีในห้วง พ.ศ.๒๓๒๕ ว่า
เมื่อวันซินโฉว่ เดือนเก้า ปีที่ ๔๗ แห่งรัชศกเฉียนหลง (วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๒๕) มีรับสั่งอีกว่าตามที่ชั่งอันกราบบังคมทูลว่า “...ได้รับคำถวายรายงานของ”เจิ้งหัว”แห่งประเทศเสียนหลอเนื่องวาระในที่ใกล้จะสิ้นพระชนม์ 'เจิ้งเจา'พระราชบิดาของท่านผู้นี้สิ้นพระชนม์ได้รับสั่งให้เขา(หมายถึง”เจิ้งหัว”หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รับใช้เบื้องพระยุคลบาทราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์ เพื่อให้ได้พึ่งบุญวาสนาภายใต้พระบรมโพธิสมภารสืบไปตลอดกาล จึงได้นำส่งสาสน์มาเพื่อถวายรายงานเป็นเฉพาะการ ครั้นเมื่อถึงกำหนดถวายเครื่องราชบรรณาการ ก็จักได้เตรียมสิ่งของพื้นเมืองอย่างดีถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการตาม ประเพณีปฏิบัติ” ฯลฯ นั้น เมื่อปีที่แล้ว”เจิ้งเจา”ได้แสดงความจริงใจถวายเครื่องราชบรรณาการอย่างเคารพนบน้อมยิ่ง จึงทรงอนุญาตให้”เจิ้งเจา”ถวายเครื่องราชบรรณาการได้ และทรงพระกรุณาพระราชทานสิ่งของและเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นการผูกผูกใจ
ครั้งนี้การที่”เจิ้งหัว”ปฏิบัติตามคำสั่งของพระราชบิดาซึ่งสั่งไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ มาถวายความจงรักภักดีและความจริงใจเช่นนี้สมควรจะจัดส่งราชทูตมาเป็นการเฉพาะและถวายพระราชสาสน์เพื่อขอให้โปรดเกล้าฯ กลับเพียงแต่จัดส่งขุนนางระดับหัวหน้านำส่งสาสน์เพื่อถวายรายงานเท่านั้นจึงมิอาจอนุญาตตามที่ขอมาอย่างรวบรัดเช่นนี้ได้บัดนี้ได้สั่งให้อำมาตย์”จินจี”ร่างหมายรับสั่งความว่า“ได้รับทราบคำการบบังคมทูลรายงานแล้วตามที่อ้างว่า”เจิ้งเจา”พระราชบิดาของท่านประชวรถึงแก่สิ้นพระชนม์ ในวาระที่ใกล้จะสิ้นพระชนม์ได้กำชับเป็นหนักหนาต่อท่านว่าให้ยึดมั่นในการรับ ใช้เบื้องพระยุคลบาทราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์เพื่อให้ได้พึ่งบุญวาสนาภายใต้ พระบรมโพธิสมภารสืบไปตลอดกาลเป็นสำคัญ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จักต้องถวายรายงาน ครั้นเมื่อถึงกำหนดถวายเครื่องราชบรรณาการก็จักได้เตรียมสิ่งของพื้นเมืองอย่างดีถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีปฏิบัติ” ฯลฯ นั้น
เมื่อปีที่แล้วพระราชบิดาของท่านได้แสดงความจริงใจถวายพระราชสาสน์และ สิ่งของเป็นเครื่องบรรณาการอย่างเคารพนบน้อมยิ่ง เมื่อเสนาบดีได้นำความขึ้นการบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้วได้รับพระบรมมหากรุณาธิคุณ มีพระบรมราชานุญาตให้เข้าถวายเครื่องราชบรรณาการได้ พร้อมทั้งทรงให้ทูตบรรณาการสมทบกับขบวนขุนนางที่เข้าเฝ้าโดยให้ต่อท้ายขบวนเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองและเฝ้าชมพระบารมีแห่งองค์จักรพรรดิ รวมทั้งพระราชทานสิ่งของเป็นพิเศษทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้สืบเนื่องมาจากองค์จักรพรรดิทรงพิจารณาเห็นความซื่อสัตย์จริงใจของพระราชบิดาท่าน(หมายถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)จึงทรงพระราชทานให้เป็นจำนวนมากอันเป็นพระกรุณาล้นพ้นเป็นพิเศษ
บัดนี้พระราชบิดาท่านได้ประชวรสิ้นพระชนม์ท่านได้สืบทอดราชสมบัติเป็นประมุขและยึดมั่นในคำสั่งสอนของพระราชบิดา มีความประสงค์จะถวายความจงรักภักดีต่อราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์อย่างรีบด่วน แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์จริงใจและเคารพนบน้อม หากแต่ว่าท่านสมควรจะได้มาถวายพระราชสาสน์ขอบพระทัยในพระกรุณาธิคุณขององค์จักรพรรดิและถวายรายงานอย่างละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับความตื้นลึกหนาบางของเรื่องราวที่พระราชบิดาของท่านถึงแก่สิ้นพระชนม์และที่ท่านสืบทอดราชสมบัติ เสนาบดีจึงจะสามารถนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ได้
บัดนี้เพียงแต่ได้จัดส่งราชทูตมาถวายรายงานและกล่าวว่าเมื่อถึงกำหนดวาระถวายเครื่องราชบรรณาการก็จักได้เตรียมสิ่งของพื้นเมืองอย่างดีมาถวายเป็นฯเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีปฏิบัติฯลฯ นั้น อันประเทศของท่านนั้นตั้งอยู่ที่ดินแดนไกลโพ้นกันดารไม่ทราบดีถึงระบบระเบียบหากแต่ว่าเสนาบดีก็มีตำแหน่งหน้าที่ปกครองราชการส่วนท้องถิ่นภายในเขตอำนาจ สำหรับเรื่องราวกรณีเช่นนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ได้ในขณะนี้จึงขอให้ทูตบรรณาการของประเทศท่านรอคอยถึงเวลามีลมเหนือ ก็สามารถแล่นเรือกลับประเทศเมื่อกลับไปถึงแล้วให้เล่าแจ้งแถลงไขถึงการได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองและการที่ได้รับพระราชทานรวมทั้งการได้รับพระกรุณาธิคุณล้นพ้นหลายครั้งหลายครั้งเป็นการพิเศษจากองค์ จักรพรรดิ แล้วท่านคงจะมีความซาบซึ้งมากยิ่งขึ้นหากว่าท่านจะถวายความจงรักภักดี และถวายเครื่องราชบรรณาการอย่างซื่อสัตย์จริงใจรวมทั้งรับตำแหน่งจากการแต่งตั้งของราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์ ท่านจำต้องถวายพระราชสาสน์เพื่อขอด้วยตนเองโดยตรง ดังนี้เสนาบดีจึงจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ได้ชี้แจงมาตามเหตุผลดังกล่าว ขอท่านได้รับทราบตามหมายรับสั่งนี้ด้วย
ขอให้ข้าหลวงดังกล่าวดำเนินการจัดส่ง(หมายรับสั่ง)ตามนั้นไปได้ครั้น ถึงคราวที่เรือราชบรรณาการของประเทศนั้นเข้าเมืองมาแล้วให้งดเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่เป็นอับเฉาทั้งหมดตามธรรมเนียมปฏิบัติ พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมเดินทางไปด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย อันเป็นการแสดงถึงความโอบอ้อมอารี อนึ่งให้นำส่งพระบรมราชโองการนี้เพื่อแจ้งให้รับทราบโดยม้าเร็ว...(*๓)'
พระราชสาสน์ของจักรพรรดิเฉียนหลงนั้นแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงโปรดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชมากเป็นพิเศษ และยิ่งชี้ให้เห็นว่าอาณาจักรจีนเมื่อหมดยุค'หลี่ซื่อเหยา'และ'ม่อซือหลิน'(พระยาราชาเศรษฐี)แล้วจะไม่มีข้อมูลใดๆของ'เสียนหลอ'(สยาม)อยู่อีกเลย ขนาดกรุงธนบุรีผลัดแผ่นดินและผู้นำในการผลัดแผ่นดินมีพระราชสาสน์ไปบอกว่าเป็น'ราชโอรส'ของกษัตริย์องค์ก่อนก็ยอมรับและบันทึกตามนั้นมาจนถึงปัจจุบันมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใดทั้งสิ้นก็ยังคงเข้าใจว่าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชอยู่เช่นนั้นไม่เปลียนแปลง แล้วจะให้จักรพรรดิเฉียนหลงทราบพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้อย่างไร ฉะนั้นพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่อ้างว่าเขียนขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงว่ามีพระราชบิดาเป็นชาวจีนนั้นแท้ที่จริงแล้วไม่เคยมีเว้นแต่จะเขียนขึ้นภายหลัง
สรุปว่าเอกสารและหลักฐานจากประเทศจีนในส่วนที่เป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นไม่มี เรื่องสุสานบรรจุฉลองพระองค์ที่บรรดาพระญาตินำไปฝังไว้หลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตได้ไม่นานนั้นคงเป็นการกล่าวอ้างตามคำร่ำลือเพราะอำเภอเถ่งไฮ้นั้นมีคนแซ่แต้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน แต่ตำนานนั้นจะขัดกับหลักความจริงหลายเรื่องอาทิพระญาติทำไมไม่นำฉลองพระองค์ไปสร้างสุสานขณะที่พระองค์เสวยราชย์สมบัติซึ่งย่อมทำได้อย่างง่ายดายกว่า และสุดท้ายเมื่อครั้งผลัดแผ่นดินนั้นไม่มีพระญาติที่ใกล้ชิดที่เป็นชายรอดชีวิตแม้แต่ผู้เดียวนอกจากเจ้านายองค์น้อยๆเท่านั้นส่วนพระญาติที่เป็นสตรีก็ถูกถอดยศและให้อยู่ในเขตพระราชวังจนถึงแก่ชีวิตไปเองจึงไม่น่าจะมีพระญาติสนิทที่สามารถครอบครองฉลองพระองค์ท่านไหนหลงเหลือไปเมืองจีนได้
[ก่อนหน้า][หน้าต่อไป]
อ้างอิง
(๑) พลิกต้นตระกูลไทย ของต้วน ลีเซิง สำนักพิมพ์พิราบ พิมพ์ครั้งที่๒ พ.ศ.๒๕๒๑
(๒)(๓)เรื่องเดียวกันอ้างแล้ว
|