ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับตุรแปง

เมื่อ 30/05/2015
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง
             ถึงตรงนี้กล่าวได้ว่าพระราชประวัติพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นไม่มีหลักฐานร่วมสมัยปรากฏให้เห็นเลย นอกจากปรากฏขึ้นในชั้นหลังๆเท่านั้นและการเกิดเหตุการณ์'กบฏจีนก่าย'ยิ่งทำให้โอกาส ที่พระราชบิดาจะเป็นชาวจีน ตามที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ แต่งหนังสือขายยิ่งลิบหลี่เต็มทน

           
แต่มีหนังสือเล่มหนึ่งตีพิมพ์ที่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1772 หรือพ.ศ.๒๓๑๔ หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบดาภิเศกได้ไม่นาน หนังสือนี้ใช้เป็นต้นแบบของคนผรั่งเศสยุคนั้นใช้ศึกษาอาณาจักรสยามอย่างละเอียดเพราะต่อมาอีกไม่นานก็จะเป็นยุคเริ่มต้นในการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสพอดี หนังสือนั้นมีชื่อว่า
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงเขียนโดยนาย'ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง' ชาวฝรั่งเศส โดยรวบรวมเรื่องราวจากบันทึกของบาทหลวงตาชารด์ชาวฝรั่งเศสที่บันทึกต่อๆกันมาโดยมีการบันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัยในช่วงกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเข้ามาทำลายไว้ดังนี้

             '...วันที่ ๒๘เม.ย.ค.ศ.๑๗๖๗(พ.ศ.๒๓๑๐หลังพม่าเข้าเมืองได้๒๑วัน)บ้านเมืองถูกยึดโดยการโจมตี
ทรัพย์สมบัติในพระราชวังและวัดต่างๆไม่เหลืออะไรเลยนอกจากซากปรักหักพังและเถ้าถ่านพระพุทธรูปถูกนำมาหลอมและทำลายโดยผู้ชนะที่ป่าเถื่อนผู้มีแต่ความโลภเท่านั้น เพื่อเป็นการแก้แค้นในความเสียหายครั้งนี้พวกพม่าได้ถ่ายเทความโกรธแก่เมืองเล็กๆโดยรอบสยาม 
      .                     
             
พวกพม่าได้ใช้ไฟลนฝ่าเท้าของพวกสยามเพื่อจะให้พวกสยามเปิดเผยที่ซ่อนทรัพย์สินและทำการข่มขืนลูกสาวที่กำลังร่ำไห้ต่อหน้าต่อตาพวกเขา พระสงฆ์ซึ่งถูกสงสัยว่าปิดบังทรัพย์สินจำนวนมากถูกหอกซัดและถูกธนูยิงจนพรุน คนอื่นๆจำนวนมากก็ถูกตีจนตายด้วยกระบองหนัก

            
สภาพบ้านเมืองก็เช่นเดียวกับวัดวาอารามซึ่งเต็มไปด้วยซากศพ แม่น้ำต่างๆไหลไม่สะดวกเนื่องจากพวกซากศพกีดกั้นทางน้ำ กลิ่นเหม็นจากสิ่งเหล่านี้ชักจูงพวกแมลงวันมาตอมอันเป็นเหตุให้ยุ่งยากในการล่าถอยของกองทัพ พวกเสนาบดีและพวกคนสนิทถูกจับใส่โซ่ตรวนและถูกกล่าวหากลายเป็นทาสอยู่ในเรือโบราณพระ เจ้าแผ่นดินผู้รู้เห็นในชะตากรรมของข้าราชสำนักพระองค์ได้พยายามที่จะหลบหนี แต่พระองค์ทรงถูกจำได้ และถูกปลงพระชนม์ที่ประตูพระราชวัง

            ขุนหลวงหาวัด(พระเจ้าอุทุมพร)ถูกพรากจากความสงบซึ่งพระองค์ปรารถนาเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องยุ่งยากและถูกนำไปรวมกับพระราชวงศ์ทั้งหมดพวกที่ถูกจับกุมทั้งหมดกลัวถูกทรมานได้สารภาพว่าพวกเขามีทรัพย์สมบัติที่แอบซ่อนอยู่มากมาย เมื่อความโลภของพวกพม่าเป็นที่จุใจแล้วและบ้านเมืองเต็มไปด้วยซากศพและคนที่กำลังจะตายกองทัพผู้มีชัยก็ถอนกลับไปพะโค...(๑*)'

            เหตุการณ์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาที่บรรยายไว้
ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงนั้น ถูกนำมาอ้างอิงจากนักวิชาการมาตลอดและได้รับการยอมรับในเรื่องรายละเอียดของเหตุการณ์ว่าถูกต้องแม่นยำกว่าเอกสารทางฝ่ายไทยอาทิการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าเอกท้ศน์ที่ตุรแปงบันทึกว่าถูกปลงพระชนม์ที่ประตูพระราชวัง'ซึ่งตรงกับพงศาวดารพม่า แต่ฝ่ายไทยบอกว่าจับได้ที่ใต้ต้นจิกและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ขุดขึ้นมาบำเพ็ญกุศลตามพระราชประเพณีซึ่งเหตุการณ์นี้ พงศาวดารพม่าและประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงถูกต้อง อีกทั้งการบรรยายเหตุการณ์ช่วงนี้ของตุรแปงก็นับเป็นกรณีศึกษาของนักศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งโลกที่ศึกษาเรื่องอาณาจักรสยามช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๒.จึงสรุปได้ว่าเอกสารนี้เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มนักวิชาการและนักศึกษาประวัติศาสตร์ชนชาติสยามของเหล่าชาวตะวันตกตลอดมา

             หนังสือ
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงฉบับนี้นอกจากจะบันทึกเหตุการณ์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างละเอียดแล้ว ยังได้บันทึกถึงบุคคลท่านหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย ไว้ว่า
 
               '...ประชาชนมุ่งมั่นไปที่พระยาตากขุนนางสยามซึ่งมารดาเป็นชาวจีนท่านเป็นทั้งนักการเมืองและนักรบ ท่านปูทางที่จะไปสู่ความยิ่งใหญ่ของท่านด้วยการเรียกร้องความสงสารและความเห็นใจ ท่านได้รับเลือกเป็นหัวหน้าโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งหมด ครั้งแรกท่านได้ใช้นามแฝงว่า'ผู้กู้ชาติ'และแอบแฝงความสูงศักดิ์ โดยการใช้เครื่องนุ่งห่มตามปรกติ ท่านปรารถนาที่จะทำตัวเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศที่แท้จริงต่อไป...(๒*)'

             ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง คงเป็นเอกสารร่วมสมัยเพียงชิ้นเดียว ที่บันทึกเหตุการณ์ไว้โดยละเอียด ข้อความที่ตุรแปง เขียนถึงพระองค์นั้นถอดชนวนต่างๆได้มากมายเริ่มตั้งแต่สังคมชาวสยามในยุคนั้นนับเอาแต่ฝ่ายบิดาหรือฝ่ายชายเป็นที่ตั้งมารดาเป็นเพียงองค์ประกอบที่ไม่มีความสำคัญเพราะแม้แต่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็มีพระราชมารดาเป็นลูกสาวคหบดีชาวจีนที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงในฐานะ'ลูกครึ่งไทย-จีน'แต่อย่างใด อีกทั้งคุณสมบัติที่มีพระราชมารดาเป็นชาวจีนขนานแท้นี้ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเป็นผู้นำของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อครั้ง'ผลัดแผ่นดิน'

              แต่หากเป็น'ลูกครึ่ง'พ่อจีนแม่ไทยแลัวทุกอย่างจะเปลี่ยนไปทันที โอกาส ที่จะเป็นผู้นำในขบวนการกู้ชาติจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะในยุคสมัยนั้นผู้คนยังถือยศถาบรรดาศักดิ์ คงไม่มีขุนนางไทยท่านไหนยอมอยู่ใต้บังคับบัญชาของ'ลูกจีน'ตั้งแต่ต้น เพราะในความเป็นจริงในช่วงเวลาที่เสียกรุงนั้นมีเชื้อพระวงศ์ระดับสูงมากคือกรมหมื่นเทพพิพิธก็ตั้งตนเป็นใหญ่รวบรวมผู้คนอยู่อีกก๊กหนึ่งซึ่งหากเทียบกันระหว่างพระยาตาก ขุนนางสยามกับกรมหมื่นเทพพิพิธเชื้อพระวงศ์ ที่'ทรงกรม'นั้น ก็นับว่าห่างไกลกันเกินประมาณ แล้วยิ่งถ้าบอกว่าพระยาตากเป็น ลูกจีนวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งเจ้าเมืองด้วยแล้ว ย่อมห่างไกลกันชนิดเกินเอื้อม ไม่มีใครมาสมทบกับพระองค์แน่กรมหมื่นเทพพิพิธย่อมคือความหวังอันสูงสุดที่ผู้คนจะไปสมทบ

              ซึ่งหากย้อนดูเมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตและก่อนพระเจ้าอุทุมพรจะขึ้นครองราชย์นั้น เกิดวิกฤต'เจ้าสามกรม'ที่ดูเหมือนจะไม่ยอมให้พระเจ้าอุทุมพรได้ครองราชย์โดยแสดงตนเหมือนจะเอาบัลลังก์กันไว้เองและกรมหมื่นเทพพิพิธผู้นี้คือกำลังสำคัญที่กำจัด'เจ้าสามกรม'จนพระเจ้าอุทุมพรได้ครองราชย์สมบัติแต่พระเจ้าอุทุมพรก็ถูกพระเจ้าเอกทัศน์พี่ชายแท้ๆแสดงตนเป็นเจ้าของบัลลังก์กษัตริย์ จนต้องหนีไปบวชถึง๒หน กระทั่งประชาชนขนานพระนามว่า'ขุนหลวงหาวัด'หลังจากนั้นกรมหมื่นเทพพิพิธก็ถูกพระเจ้าเอกทัศน์'กำจัด'เพราะอยู่ฝ่ายเดียวกันแต่คนละพวกคือเป็นพวกเดียวกับพระเจ้าอุทุมพร จึงต้องบวชและต้องไปจำพรรษาที่ประเทศศรีลังกา จนเมื่อพม่าล้อมกรุงจึงลาสิกขาลงเรือจากศรีลังกามารวบรวมผู้คนอยู่ที่ปราจีนบุรี  

              แม้ว่าก่อนเสียกรุงศรีอยุธยากองทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธจะพ่ายแพ้แก่พม่า แต่กรมหมื่นเทพพิพิธยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้งหม่อมเจ้าประยงค์ผู้บุตรนั้นเมื่อครั้งชิงเมืองนครราชสีมาก็ได้แสดงความสามารถให้เห็นมาแล้ว เหตุการณ์ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยานั้น ประชาชนทนไม่ไหวกับความอ่อนแอของพระ เจ้าเอกทัศน์จนต้องเขียนหนังสือใส่บาตรให้พระเจ้าอุทุมพรลาสิกขา มาช่วยแก้สถานะการณ์ย่อมแสดงว่าผู้คนกรุงศรีอยุธยาเป็นปรปักษ์กับพระเจ้าเอกทัศน์อย่างชัดเจน เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์เป็นเหตุให้พระเจ้าอุทุมพรต้องบวชจนเสียกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธในฐานะที่พวกเดียวกับพระเจ้าอุทุมพรและเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระเจ้าอุทุมพรได้ครองราชย์ย่อมต้องได้รับความชอบธรรมหรือเป็นความหวังไปโดยปริยาย บรรดาเจ้านายและขุนนางควรจะพากันอพยพไปสมทบด้วยเพราะถือว่าเป็นความหวังสูงสุดของระบบศักดินา แต่กรมหมื่นเทพพิพิธกลับไม่ได้รับความไว้วางใจจากเชื้อพระวงศ์และขุนนางเท่าที่ควรเห็นได้จาก'...เมื่อกรุงเสียแล้วนั้นพวกข้าราชการและเชื้อวงศ์ผู้ดี ณ กรุง หนีขึ้นไปอยู่กับพระเจ้าพิมายเป็นอันมาก จึงโปรดตั้งให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควรแก่คุณานุรูป แต่ยังหาครบตามตำแหน่งไม่...(๓*)'

            ในทางกลับกัน'พระยาตาก ขุนนางสยาม'กลับได้รับความไว้วางใจมากกว่า เพราะมีเชื้อพระวงศ์ไปสมทบตลอดเวลาดังนี้'...อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิม(เจ้าครอกจันทบุรี)บุตรีสมเด็จพระอัยยกานั้นพวกข้าไทยพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบุรีเจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้.....และนายสุดจินดามหาดเล็กนั้นหนีออกไปพำนักอยู่ ณ เมืองชลบุรีครั้นรู้ข่าวว่าเจ้าตากออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองจันทบุรี จึงพาพรรคพวกบ่าวไพร่เดินบกออกไปเข้าพึ่งอยู่ด้วยเจ้าตาก เจ้าตากก็รับไว้ชุบเลี้ยงตั้งเป็นพระมหามนตรีเพราะรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนกรุงยังไม่เสีย...(๔*)' แสดงว่า'พระยาตาก ขุนนางสยาม'คือผู้ที่ถูกเลือกจากเหล่าเชื้อพระวงศ์และลูกหลานผู้ดีแห่งกรุงศรีอยุธยาที่จะไปสมทบด้วยตั้งแต่รวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี ย่อมพิสูจน์คำพูดของตูรแปงที่ว่า'ประชาชนมุ่งมั่นไปที่พระยาตาก ขุนนางสยามซึ่งมารดาเป็นชาวจีนท่านเป็นทั้งนักการเมืองและนักรบ........ และแอบแฝงความสูงศักดิ์ โดยการใช้เครื่องนุ่งห่มตามปรกติ ท่านปรารถนาที่จะทำตัวเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งเท่านั้นเพื่อที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศที่แท้จริงต่อไป'


              แต่ความสูงศักดิ์ที่แอบแฝงไว้ ตามคำบรรยายของตุรแปงนั้น อาจเป็นเพียงความสูงศักดิ์ตามสายตาของบุคคลทั่วไปหรือคนนอกอย่างตุรแปงเท่านั้น และคงไม่ได้ใกล้เคียงกับความสูงศักดิ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธหัวหน้าชุมนุม'เจ้าพิมาย'เพราะเมื่อถึงคราวที่ชุมนุม'เจ้าพิมาย'พ่ายแพ้ต่อกองทัพกรุงธนบุรีนั้น กรมหมื่นเทพพิพิธถึงกับทำใจไม่ได้จนแสดงอาการ'กระด้างกระเดื่อง'ออกมาให้เห็นจนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระพิโรธ'...แล้วเสด็จเลิกทัพหลวงกลับยังกรุงธนบุรี จึงให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธเข้ามาหน้าพระที่นั่งและกรมหมื่นเทพพิพิธถือตัวอยู่มิได้ถวายบังคม จึงดำรัสว่าตัวเจ้าบุญวาสนาบารมีหามิได้ไปอยู่ที่ใดก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั้น ครั้นจะเลี้ยงเจ้าไว้ก็จะพาคนที่หลงเชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยอีก เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย แล้วดำรัสสั่งให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธไปประหารชีวิตเสีย...(๕*)' ซึ่งการถือยศถือศักดิ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อครั้งรบแพ้หลวงแพ่งน้องพระยานครราชสีมาเพราะในคราวนั้นบรรดาลูกชายที่อยู่ในวัยหนุ่มถูกประหารหมดและลูกสาวตลอดจนนางห้าม ก็ถูกนำไปเป็นภรรยาฝ่ายผู้ชนะ กรมหมื่นเทพพิพิธกลับมิได้แสดงเลือดขัติยะออกมาให้เห็นแต่อย่างใด หรืออาจเป็นเพราะความสูงศักดิ์ที่พระยาตาก ขุนนางอยุธยา แอบแฝงไว้นั้นคงไม่สูงศักดิ์พอที่จะทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธทำใจยอมรับได้เมื่อเทียบกับ'กรมหมื่น'อย่างท่าน

              หนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง ที่ตีพิมพ์ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๔ นี้จึงเป็นเอกสารร่วมสมัยเพียงชิ้นเดียวที่ตีพิมพ์ในขณะที่พระองค์ปราบดาภิเศกได้๔ปีและครองราชย์สมบัติหลังจากตีพิมพ์อีก๑๐ปีซึ่งหมายถึงตีพิมพ์ในรัชสมัยของพระองค์ อีกทั้งเป็นเอกสารการบันทึกโดยชาวต่างชาติที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยย่อมน่าจะเชื่อถือได้มากที่สุด ถึงตรงนี้พี่น้องคนไทยทั้งหลายควรจะทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมี'พระราชมารดาเป็นชาวจีน'มิใช่พระราชบิดา

                                       
ชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช จบบริบูรณ์
           
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะข้าพระพุทธเจ้านายภีมเดช อมรสุคนธ์ (ทนายอ๊อด-ระยอง)ค้นคว้าถวาย               
                                                  
[ก่อนหน้า][กลับหน้าแรก]


อ้างอิง


(๑)ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา โดย นายฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง
(๒)-(๔)เรื่องเดียวกัน อ้างแล้ว